ปัญหาราคายาง ถือเป็นปัญหาระดับชาติที่ผ่านมือมาหลายรัฐบาล แก้ได้บ้างไม่ได้บ้าง เนื่องจากราคาขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง ในช่วงที่ปัจจัยภายนอกรุมเร้าเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ก็ต้องอาศัยมาตรการของภาครัฐในการพยุงและรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลเก่าเปลี่ยนผ่านไปยังรัฐบาลใหม่ รัฐมนตรีคนใหม่ที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น่าจะได้เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ตามโควตาพรรคร่วมรัฐบาล
ในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ชูนโยบายแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราไว้ 5 มาตรการ ประกอบด้วย มาตรการแรก คือ การประกันราคายางที่กิโลกรัม (กก.) ละ 60 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ ทั้งเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลจ่ายชดเชยไว้ที่ 15 ไร่เป็นหลัก ไร่ละ 16,000-17,000 บาท แต่คนกรีดยางที่เป็นคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลประโยชน์ จึงปรับมาเป็น"60 บาท 25 ไร่ ได้ทุกคน"
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันราคายางได้ปรับตัวทะลุขึ้นมาอยู่ที่ 60.05 บาท/กก.แล้ว
มาตรการที่ 2 ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นด้วยการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ 20% ปีละ 1 ล้านตัน เพื่อการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ และการปูอ่างเก็บน้ำ
มาตรการที่ 3 ตั้งกองทุนสวัสดิการเกษตรชาวสวนยาง เป็นสังคมสวัสดิการแบบสมัครใจ จ่ายสมทบตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 49 (5)
มาตรการที่ 4 แก้ปัญหาเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์จำนวน 300,000 ครัวเรือน พื้นที่สวนยาง 5 ล้านไร่ โดยใช้โฉนดสีฟ้าและโฉนดชุมชน
และ มาตรการที่ 5 การสร้างความมั่นคงในอาชีพการทำสวนยาง ด้วยชุดความคิดสวนยางยั่งยืน ตามทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง การเปลี่ยนสวนยางเชิงเดี่ยวให้เป็นสมดุลนิเวศน์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการปลูกพืชอื่นร่วมกับยางพารา ทำเกษตรผสมผสาน ลดต้นทุนเพิ่มรายได้
พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า 5 มาตรการนี้เดินได้ทันที
แต่หากย้อนกลับมาดูผลงานด้านยางพาราของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงตอนนี้มีบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว 3 คน คือ
นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา วาระในการดำรงตำแหน่ง 30 ส.ค.57-19 ส.ค.58
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ดำรงตำแหน่งระหว่าง 19 ส.ค.58- 23 พ.ย.60
และ คนล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช เข้ามาดำรงตำแหน่ง เมื่อ 23 พ.ย.60 จนถึงปัจจุบัน
ก่อนการทำรัฐประหารในเดือน เม.ย.57 ราคาน้ำยางสดอยู่ที่ระดับประมาณ 62.83 บาท/กก. ราคายางแผ่นดิบ (ราคาประมูล ณ ตลาดกลางหาดใหญ่) อยู่ที่ 64.28 บาท/กก.ราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่ 67.37 บาท/กก. ราคา FOB อยู่ที่ 71.02 บาท/กก.
หลังจากนั้นราคาค่อยๆปรับตัวลดลง จนกระทั่งเดือน พ.ย.8 ราคายางทุกชนิดทำสถิติร่วงลงแตะหลัก 3 ทุกชนิด จนมีประโยคที่ว่า "ราคายาง 3 กิโล 100"
ในช่วงราคายางตกต่ำที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการทั้งในรูปของการแทรกแซงราคาเพื่อผลักดันให้ราคาสูง สมัยนายปิติพงศ์ เข้ามารับตำแหน่ง ตอนนั้นราคาอยู่ที่ประมาณ 60 บาทต้นๆ มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาภาคเกษตรครบวงจร เน้นการจัดการฐานข้อมูล ทั้งปริมาณผลผลิตข้าวและยางที่แท้จริงในแต่ละปี รวมทั้งจำนวนเกษตรกร เนื่องจากที่ผ่านมามีตัวเลขแฝงจำนวนมาก ทั้งพื้นที่เพาะปลูกและจำนวนครัวเรือนของเกษตรกร จากโครงการประกันราคา และโครงการรับจำนำ ที่สำคัญต้องไม่เลือกใช้นโยบายให้เกษตรกรเป็นหนี้สินอีกเพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ในอาชีพต่อไปได้โดยไม่พึ่งประชานิยม นอกจากนี้มีการส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนอาชีพ ปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น
ในส่วนของนโยบายยาง มีการขอความร่วมมือกระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมแปรรูปในปี 2558/2559 เพื่อนำตัวเลขผลผลิตยางและปริมาณความต้องการใช้ยางมาคำนวนในการบริหารยางพาราในประเทศ รวมถึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกมาหากมีการลดพื้นที่ปลูกในป่า 6 แสนไร่ และลดพื้นที่ปลูกในส่วนเกษตรกร 4 แสนไร่ รวมทั้งหมด 1 ล้านไร่ ตามนโยบายสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม 1 แสนบาทต่อครัวเรือน
นอกจากนี้ยังเดินหน้าโครงการมูลภัณฑ์กันชน (Buffer funds:ซื้อสะสมไว้เมื่อมีราคาต่ำและนำออกขายเมื่อมีราคาสูงเพื่อรักษาระดับราคาให้มีเสถียรภาพ), โครงการชดเชยรายได้เกษตรกร ไร่ละ 1,000 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่
ถัดมาในยุคของ พล.อ.ฉัตรชัย ช่วงแรกที่รับตำแหน่งราคายางอยู่ที่ประมาณ 44-48 บาท/กก.ได้สั่งเดินหน้าการส่งเสริมอาชีพเสริมของเกษตรกรชาวสวนยางพารา คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติก็ยังเห็นชอบ "โครงการสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรชาวสวนยาง" โดยให้เงินช่วยเหลือในอัตราไร่ละ 1,500 บาท จำนวน 850,000 ครัวเรือน โดยให้เจ้าของสวนยาง 900 บาทต่อไร่ และแรงงานกรีดยาง 600 บาทต่อไร่
ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นมีการผลักดัน พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางจำเป็นต้องจัดให้มีองค์กรกลางในนามการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการเกี่ยวกับการยางของประเทศทั้งระบบอย่างครบวงจร มีเอกภาพ สามารถดำเนินการไปได้อย่างเป็นอิสระและคล่องตัว สามารถใช้ยางและผลิตผลจากยางให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
หลัง พ.ร.บ.การยางฯประกาศใช้มีการรับซื้อยางกิโลกรัมละ 45 บาท โดยรับซื้อจากเกษตรกรรายย่อยจำนวน 100,000 ตัน โดยใช้เงินจากกองทุนยาง
มาถึงยุคนายกฤษฎา ราคายางผงกหัวขึ้นมาได้บ้างจากปี 58 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ G3 (สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น) และระดับสต็อกยางโลกเริ่มลดลงจากการชะลอตัวของผลผลิต แต่ทว่าการฟื้นตัวของประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่คือจีนยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการหดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในช่วงขาลงยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ราคายางฟื้นตัวได้อย่างจำกัด
มาถึงปี 60 ราคายางช่วงต้นปีอยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า และยอดขายรถยนต์ของประเทศจีนที่เติบโตดีต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคใต้ช่วงเดือน ม.ค.60 ทำให้อุปทานยางที่ลดลงจากภาวะฝนตกหนักและน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ผลผลิตยางออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับจีนได้เร่งนำเข้ายางโดยได้แรงจูงใจจากราคายางที่อยู่ในระดับต่ำและไม่มั่นใจในสภาพอากาศและมาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้า โดยปริมาณส่งออกยางแปรรูปไปจีนครึ่งหลังปี 60 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 31.8% เป็นผลให้สต็อกยางจีนโดยเฉพาะที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน ต.ค.และกดดันให้ราคายางในช่วงปลายปีลดลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน
ต่อมาในปี 61 ครึ่งปีแรกราคายางปรับตัวสูงขึ้นได้เล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 60 ที่ราคายางตกต่ำ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ มาตรการควบคุมปริมาณผลผลิตโดยการลดพื้นที่ปลูกยางถาวร 2 แสนไร่ หยุดกรีดในพื้นที่รัฐ 1.2 แสนไร่ และส่งเสริมให้เกษตรกรชะลอกรีด 2 แสนไร่ และ โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับอินโดนีเซียและมาเลเซียในการจำกัดการส่งออก
แต่มาในช่วงครึ่งหลังปี 61 ราคายางปรับตัวลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปีจากปัจจัยด้านอุปทานยางที่เพิ่มขึ้นมากเป็นสำคัญ จากพื้นที่ยางใหม่ที่ทยอยกรีดได้เพิ่มเติมจากที่ได้มีการเร่งปลูกในช่วงปี 54-55 รวมถึงมาตรการภาครัฐบางส่วนที่จะสิ้นสุดลง เช่น มาตรการหยุดกรีดในพื้นที่รัฐและมาตรการจำกัดการส่งออกซึ่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 61 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานรัฐ ซึ่งสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2561
จนถึงปี 62 ราคายางพาราโลกทรงตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีปัจจัยบวกจากการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น แม้จะมีปัจจัยลบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่อาจส่งผลให้ความต้องการใช้ยางของโลกชะลอตัวลง แต่หากมองถึงความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้นยังพอเป็นแรงส่งให้ราคายางไปต่อได้
ประกอบกับมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางในช่วง 4 เดือน (เม.ย.-ก.ค.62) ของสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (International Tripartite Rubber Council: ITRC) ในประเทศ 3 สมาชิกคือ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียมีผลผลักดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการดำเนินการได้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม แต่ก็น่าจะเห็นผลได้เพียงในระยะสั้น โดยคาดว่าอาจช่วยผลักดันราคายางพาราในช่วงไตรมาส 2/62
คงต้องมาดูว่ารัฐบาลใหม่ จะมีมาตรการออกมาดูแลราคายางให้ดีขึ้นได้จริงตามนโยบายที่ได้เอามาใช้หาเสียงหรือไม่