(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรหั่น GDP ไทยปี 62 เหลือโต 3.1% จากเดิม 3.7% รับสงครามการค้าฉุดส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 26, 2019 10:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลงเหลือโต 3.1% จากเดิมที่ 3.7% โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทำให้การส่งออกไทยชะลอตัว พร้อมกันนี้ ยังได้ปรับลดประมาณการส่งออกไทยในปีนี้ลงเหลือ 0% จากเดิมที่ 3.2% เนื่องจากทิศทางการค้าโลกชะลอตัวจากปัญหาสงครามการค้า

ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังปรับลดประมาณการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปีนี้เหลือเติบโต 4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง ประกอบกับมาตรการ LTV ส่งผลกระทบต่อการขอสินเชื่อบ้าน

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางการค้าโลกในระยะที่เหลือของปีนี้ อาจถูกกดดันจากการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในวงเงินที่เหลืออีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์ฯ ทำให้มีการปรับลดประมาณการของการส่งออกในปีนี้ลงมาที่ 0% จากเดิมที่ 3.2% ซึ่งต้องติดตามผลการประชุม G20 และการหาทางออกของเกมการเมืองของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาท

"หากมีสัญญาณบวกจากการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีนมากขึ้น การส่งออกยังมีโอกาสโตในแดนบวก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยหนุนให้ตัวเลข GDP เอียงเข้าหากรอบบนของช่วงประมาณการใหม่ที่ 2.9-3.3% ได้" น.ส.ณัฐพรกล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ตัวเลข GDP ทั้งปีอาจลดภาพบวกลงจากเดิม แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก จากผลของฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ที่คาดว่าจะผลักดันนโยบายที่สอดคล้องกับที่พรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อาทิ นโยบายประชารัฐ ประกันรายได้พืชผลเกษตร รวมถึงนโยบายเร่งด่วนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย แรงกระตุ้นเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากความล่าช้าของงบประมาณประจำปี 63 ได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยให้น้ำหนักกับประเด็นเชิงเสถียรภาพ คู่ขนานไปกับการติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ราว 1-2 ครั้งในปีนี้ หลังสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มอ่อนแรงลง

ด้านสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยนั้น น.ส.ณัฐพร มองว่าตัวเลขทั้งปีนี้ น่าจะเติบโตที่ 4.5% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 5% โดยถูกถ่วงลงจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เติบโตช้าตามบรรยากาศเศรษฐกิจ รวมถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีที่คงทยอยรับรู้ผลกระทบจากการเร่งซื้อล่วงหน้าไปแล้วก่อนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

ขณะที่ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) นั้น แม้จะมีโอกาสปรับขึ้นในช่วงระหว่างปี โดยเฉพาะจากหนี้ที่เคยปรับโครงสร้างไปแล้ว (Re-Entry) แต่ปิดปี ก็น่าจะรักษาระดับที่สอดคล้องกับเป้าหมายของธนาคารแต่ละแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ