นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวได้ในภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลาง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน
ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัวจากเดือนก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ 10.6% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 8.7% ต่อปี แต่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลง -5.1% ต่อปีส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 7.0% และ 8.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะฉะเชิงเทรา และระยอง เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 1.6% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.2% จากการลดลงของรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ แต่รายได้ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ในเดือนพฤษภาคม 2562 ที่ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.0 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.7% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัวจากการบริโภคภาค และการลงทุนภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 7.9% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่ยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.4% ต่อปี ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 9.9% ต่อปี นอกจากนี้มีเงินลงทุนที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 4,885 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาครและปทุมธานี เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวในอัตราชะลอลงที่ 1.9% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 3.1% ต่อปี จากการลดลงของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคและการผลิตภายในภูมิภาคที่ 1.6% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคกลาง เศรษฐกิจขยายตัวจากการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวขยายตัว แต่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 9.3% ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทอง ชัยนาท และลพบุรี เช่นเดียวกันกับเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 2,125 ล้านบาท ขยายตัว 808.9% ต่อปี จากการลงทุนในโรงงานผลิตภาชนะบรรจุ อาหารและเครื่องดื่มจากโลหะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว จากการปรับตัวลดลงจากยอดรถยนต์และรถจักยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวที่ -9.2% และ -3.5% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 2.5% ต่อปี
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 5.4% ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.7% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งคนไทยและต่างประเทศที่ 5.7% และ 4.2% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 0.9% ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจทรงตัวจากการการขยายตัวภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ 5.0% ต่อปี จากการขยายตัวทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ร้อยละ 5.0% และ 4.9% ต่อปี ตามลำดับ สำหรับด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัว -1.4% และ -9.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการลดลงในเกือบทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 2.9% ต่อปี
ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรทรงตัว สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.9% และ 1.5% ต่อปีตามลำดับ แต่เงินลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิบการและเงินลงทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลง ขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 0.8% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจทรงตัวจากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชน แต่การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ จากการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 1.4% ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 5.7% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น แต่รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ หดตัวลงเล็กน้อยที่ -1.7% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลงที่ร้อยละ -28.8% และ -56.2% ต่อปี ตามลำดับ แต่ยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 5.6% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 1.4% ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 6.3% ต่อปี โดยเป็นการปรับตัวลดลงจากรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศเป็นสำคัญ ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวของคนไทยยังคงขยายตัว ส่วนด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 1.4% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจทรงตัวจากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวเล็กน้อย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ 6.5% และ 1.7% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัว -3.8% และ -3.1% ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับจากเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลง -49.2% ต่อปี
สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 4.3% ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนของคนไทยและคนต่างประเทศที่ 4.4% และ 4.0% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ร้อยละ 0.7% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจทรงตัวจากการกลับมาขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังปัญหาหมอกควันในภาคเหนือคลี่คลายลง โดยรายได้จากการเยี่ยมเยือนในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัว 4.2% ต่อปี จากเดือนเดือนก่อนที่หดตัวลง -2.3% ตามการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ 4.8% และ 2.4% ต่อปี ตามลำดับ
สำหรับเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดและรถจักรยานยนต์ทะเบียนใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลง -3.9% และ -3.6% ต่อปี ตามลำดับ แต่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวลดลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 หดตัว -12.0% และ -64.0% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ 1.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค