นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 1,645,777 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 65,597 ล้านบาท หรือ 4.2% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 40,875 ล้านบาท หรือ 2.5% โดยเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร และหน่วยงานอื่น การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 38,017 36,893 10,675 และ 6,950 ล้านบาท หรือ 3.2% 35.9% 8.3% และ 10.4% ตามลำดับ
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับคาดการณ์รายได้รัฐบาลสุทธิที่กระทรวงการคลังได้จัดทำ สำหรับการติดตามและประเมินสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ (คาดการณ์ ณ เดือนมีนาคม 2562) โดยพิจารณาจากสถานการณ์เศรษฐกิจและตัวแปรที่ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลพบว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 สูงกว่าคาดการณ์ จำนวน 8,194 ล้านบาท หรือ 0.5% โดยการจัดเก็บรายได้ของทุกหน่วยงานใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ ยกเว้นรายได้นำส่งจากรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากมีการนำส่งรายได้เหลื่อมเดือนจากที่คาดการณ์ไว้
"สำหรับในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ กระทรวงการคลังจะติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้" ผู้อำนวยการ สศค.ระบุ
นายลวรณ ยังกล่าวถึงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ตุลาคม 2561 – พฤษภาคม 2562) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 1,563,258 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 2,128,441 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 275,879 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 319,262 ล้านบาท