นายสมชัย สัจจพงษ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ในระหว่างการหารือกับ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เช้าวันนี้ สศค.ได้เสนอแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ทดแทน หากมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% เงินทุนนำเข้าระยะสั้น
สำหรับมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการปรับลดดอกเบี้ยในประเทศลงเพื่อให้ส่วนต่างกับดอกเบี้ยต่างประเทศลดน้อยลง ส่วนจะลดลงเท่าใดนั้นคงจะต้องมีการหารือในรายละเอียดก่อน และยืนยันว่าทางการจะไม่ใช้มาตรการจัดเก็บภาษีขาออกเงินทุนนำเข้าจากต่างประเทศ (Exit Tax)
"ยกเลิกมาตรา 30% คาดว่าน่าจะมีแน่นอน แต่หากยกเลิกทันทีจะมีผลกระทบ เพราะดอกเบี้ยของไทยยังสูงกว่าต่างประเทศ จะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามามาก และในที่สุดจะทำให้เงินบาทแข็ง ซึ่งน่าเป็นห่วง...หากจะยกเลิก 30% ก็ต้องลดดอกเบี้ยด้วย"นายสมชัย ระบุ
นอกจากนั้น หากยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ก็ควรจะมีมาตรการเสริมในลักษณะของมาตรการบูรณาการ โดยจะใช้เพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบจาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อผู้ฝากเงิน, ข้าราชการเกษียณอายุ ตลอดจนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการส่งเสริมให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศให้มากขึ้น
ส่วนที่มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าการปรับลดดอกเบี้ยอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในประเทศเกิดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ขณะที่การใช้จ่ายของประชาชนมีอัตราชะลอตัวลง ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยจึงไม่น่าจะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ จึงทำให้มีช่องที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงได้ เพื่อช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม การยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% จะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.)ด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย คลฦ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--