นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคม 2562 มีผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้เริ่มมีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัสแล้วเช่นกัน
สำหรับสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 1,051 ราย ใน 76 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคำขออนุญาตประเภทพิโกพลัสจำนวน 21 ราย
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 91 ราย กรุงเทพมหานคร 78 ราย ขอนแก่น 55 ราย ทั้งนี้ มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 124 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 927 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 583 ราย ใน 70 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 494 ราย ใน 65 จังหวัด และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 462 ราย ใน 65 จังหวัด
สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 84,022 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,160.80 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,717.11 บาทต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 41,022 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,272.37 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58.88% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 43,000 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 888.43 ล้านบาทหรือคิดเป็น 41.12% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 30,896 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 753.64 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 3,176 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 84.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.27% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 2,266 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 38.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.11% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม
ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 574,760 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,867.87 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 532,098 ราย เป็นจำนวนเงิน 24,033.17 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบจำนวน 42,662 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,834.70 ล้านบาท
อนึ่ง ปัจจุบันผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประเภท ได้แก่
(1) สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate)
(2) สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัส มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และให้เรียกเก็บได้ไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาท
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น ยังสามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ได้ด้วย
นายพรชัย กล่าวว่า ภาครัฐจะดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงกวดขันจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินการสะสมการจับกุมผู้กระทำผิดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 5,050 คน