นักเศรษฐศาสตร์แนะรอตลาดนิ่งก่อนเลิก 30% ค้านลดดอกเบี้ย-เก็บ Exit Tax

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 11, 2008 15:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนรัฐบาลไม่ควรเร่งรีบยกเลิกมาตรการสำรอง 30% แม้จะเห็นด้วยว่าโดยหลักการแล้วสมควรยกเลิก แต่ควรรอให้ตลาดนิ่งก่อน โดยเฉพาะควรจะรอให้ความผันผวนในระบบการเงินโลกลดลงก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการสร้างจิตวิทยาทางลบต่อตลาดไทย อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการนำมาตรการเก็บภาษีขาออก ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีในขณะนี้ แต่ควรจะหารือกับธปท.ให้รอบคอบเพื่อกำหนด package ของมาตรการที่เหมาะสม
"อย่าทำอะไรที่ประเทศไทยทำอยู่เพียงประเทศเดียว ทำให้นักลงทุนต่างชาติรู้สึกว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้วไทยดูต่างจากประเทศอื่น แล้ว เพราะเราไม่ใช่ผู้เลือก แต่เป็นผู้ถูกเลือกว่าเค้าจะเข้ามาลงทุนหรือไม่ เราจึงไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลย"นายสมภพ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมในรัฐบาลชุดก่อน กล่าวว่า รัฐบาลควรต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้รอบคอบก่อน เพราะในทางปฏิบัติมาตรการนี้ก็เหมือนเสือกระดาษอยู่แล้ว ดังนั้นการเสี่ยงที่จะสร้างผลกระทบด้านจิตวิทยาในเชิงลบเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง
นายสมภพ กล่าวว่า แม้จะเห็นว่าการยกเลิกมาตรการดังกล่าวจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อนโยบายทางการเงินของไทยว่าไม่ใช่นโยบายทางการเงินที่ล้าหลัง โดยเฉพาะผลของมาตรการที่ทำให้มีการแยกตลาดเงินบาทในประเทศและนอกประเทศออกจากกันอย่างเด็ดขาด ซึ่งการยกเลิกมาตรการ 30% อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่ค่าเงินบาทในตลาด onshore และ offshoe ก็จะเคลื่อนไหวเข้าหากันเร็วขึ้น
"ขณะนี้มีแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีเงินบาท 2 อัตรา...และที่สำคัญที่สุด คือ ขณะนี้อัตราเงินบาทใน offshore และ onshore ก็เริ่มวิ่งเข้าหากัน ช่องว่างเริ่มแคบลง...เมื่อเช้าเงินบาทใน offshore อยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ onshore อยู่ที่ 32.92 บาท/ดอลลาร์ ห่างกันแค่บาทกว่าๆ เท่านั้น และถ้าเมื่อไหร่ ธปท.มีท่าทีว่าจะยกเลิกมาตรการ 30% จริงๆ เงินบาททั้งใน offshore และ onshore ก็จะวิ่งเข้าหากันเร็วขึ้น" ศ.ดร.สมภพ กล่าว
สำหรับระยะเวลาเหมาะสมที่จะยกเลิกมาตรการ 30% ควรต้องรอให้ตลาดนิ่งก่อน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านจิตวิทยา และภาวะความผันผวนในตลาดเงินโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะปัญหาซับไพรม์ คาดว่า 3-6 เดือนนี้ก็น่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ผลกระทบมีมากแค่ไหน
"ถ้ามันยังลามปามต่อไป แล้วเรายังสร้างจิตวิทยาด้านลบขึ้นมาอีก จะยิ่งส่งผลเสียต่อตลาดไทย เพราะตลาดไทยเล็กมาก แค่ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย ก็ไปแล้ว"นายสมภพ กล่าว
นายสมภพ กล่าวถึงข้อเสนอของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการใช้แนวทางหรือมาตรการอื่น ๆ มาใช้รองรับสถานการณ์หากมีการยกเลิกมาตรการ 30%ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศลงเพื่อแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและนอกประเทศนั้น ไม่น่าจะมีผลมากนัก เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยหลายประเทศสูงกว่าไทย ทั้งฮ่องกง ออสเตรเลีย ยุโรป และอังกฤษ
"ตอนนี้มีสภาวะเงินตึงอยู่แล้ว การที่รัฐบาลยังอยากใช้ดอกเบี้ยต่ำอีก โดยอ้างว่ากลัวเงินไหลเข้า ก็อยากให้ดูอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง อยู่ที่ 4.5% สูงกว่าเฟด 1.50 บาท ออสเตรเลีย 7% อังกฤษ 5% ยูโรโซน 4% แล้วทำไมเงินต้องไหลเข้าไทยประเทศเดียวด้วยเหตุผลของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ทั้งที่ไทยก็เป็นตลาดเล็ก ความน่าสนใจก็ไม่ได้มากเท่ากับประเทศที่กล่าวถึง แล้วทำไมเขาไม่เร่งลดอัตราดอกเบี้ยเหมือนเฟด นั่นเป็นเพราะมีเหตุผลอื่นอีก คือ เขาห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อมากกว่าใช่หรือไม่"
หรือข้อเสนอให้ใช้มาตรการเก็บภาษีขาออกเงินทุนต่างประเทศที่นำเข้ามาไม่ถึง 1 ปีนั้น ก็ยิ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยทันที เหมือนครั้งก่อนที่มีการประกาศใช้มาตรการ 30% ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงเป็นร้อยจุดหลังจาก ธปท.ประกาศใช้มาตรการ 30%
นายสมภพ กล่าวว่า ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือ รัฐบาลต้องไปหารือร่วมกับ ธปท. เพราะมาตรการทางออกต่างๆ มีมากมาย ธปท.เท่านั้นที่จะรู้ดีที่สุดว่าควรใช้มาตรการอะไรที่เหมาะสม แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรกลัวค่าเงินบาทแข็ง และอย่ายึดแต่ส่งออกเป็นหลักในการบริหารเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว รัฐบาลควรจะพยายามคิดให้เป็น package เพื่อทำนโยบายต่างๆ ให้เชื่อมโยงกัน
"มันลบกับผู้ส่งออกต่างหาก แต่ไม่ได้ลบกับคนไทยทั้งประเทศ กระเป๋าคนไทยเมื่อไปแลกเป็นดอลลาร์ก็ได้เพิ่มขึ้น และมันก็สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินในภูมิภาค แล้วจะกลัวอะไร"นายสมภพ กล่าว
ข้อสำคัญ คือ รัฐบาลควรหาแนวทางในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อทำให้มี Demand และ Supply เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมามีพัฒนาการค่อนข้างน้อย และต่อไปรัฐบาลมีความจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงควรต้องมีแหล่งเงินที่หลากหลายเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยต่ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ