พล.ต.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดงานโยธา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อการเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะเวลาดำเนินการ 19 เดือน ในวงเงิน 751,624,800 บาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 112,743,700 บาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำหรับส่วนที่เหลือจำนวน 638,881,100 บาท อนุมัติให้ รฟท. ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2564 ตามแผนการเบิกจ่ายต่อไป โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณประจำปีให้ รฟท. ตามขั้นตอนต่อไป
2. อนุมัติให้ รฟท. ได้รับการยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ก.พ.52 (เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง) สำหรับการดำเนินการจ้างที่ปรึกษาในครั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสัดส่วนการได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก ที่กำหนดไว้ว่าต้องได้รับการจัดสรรไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นงบประมาณทั้งสิ้น
สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนก.ย.62 แล้ว โดยให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป และให้ รฟท. ขอทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบความเหมาะสมของราคาก่อนทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม คาดว่า จะประมูลคัดเลือกที่ปรึกษาและลงนามสัญญาจ้างได้เร็วๆ นี้ โดยสัญญาจ้างที่ปรึกษาดังกล่าวนอกจากออกแบบรายละเอียด ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย แล้ว ยังจะต้องการจัดทำทีโออาร์ และดำเนินการประกวดราคาหาผู้ก่อสร้างงานโยธา, และงานระบบ O&M ระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เพื่อให้เชื่อมกับ โครงการระยะแรก ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา อีกด้วย และหลังจากเซ็นจ้างที่ปรึกษา ภายใน 6 เดือน จะออกแบบรายละเอียดช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น เสร็จและทยอยเปิดประมูลก่อสร้างได้ก่อน
สำหรับการก่อสร้าง รถไฟไทย-จีน ระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.35 จำนวน 14 สัญญา ขณะนี้ประมูลไปแล้ว 7 สัญญา ผลประมูล เป็นที่น่าพอใจ ขณะที่ อีก 7 สัญญาที่เหลืออยู่ในขั้นตอนประมูล โดยภายในเดือนก.ค. จะเปิดประมูลได้ 6 สัญญา ส่วนอีก 1 สัญญา ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง จะต้องเจรจากับผู้ประกอบการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากมีการใช้พื้นที่เขตทางร่วม กัน
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างเฟสแรก ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังเป็นไปตามแผน โดยจะแล้วเสร็จในปี 2565 และเปิดเดินรถได้ในปี 2566