นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า สินค้า 33 รายการที่กำลังศึกษาโครงสร้างต้นทุนอยู่นั้น พบว่ามีหลายรายการสามารถปรับลดราคาลงมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มของใช้ภายในบ้าน เช่น สบู่, น้ำยาล้างจาน, แชมพู รวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
ซึ่งแม้สินค้ากลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่มีการหากบริหารจัดการที่ดีก็สามารถปรับลดราคาลงมาได้
"ต้องยอมรับว่ากลุ่มเหล่านี้ มีการตั้งราคาจำหน่ายต่อกำไรสูงกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นหากบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี ก็สามารถอยู่ได้ภายต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค" นายยรรยง กล่าว
ทั้งนี้ ในสัปดาห์หน้านายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ จะเชิญกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ รวมถึงสมาคมต่างๆ มาหารือเพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดหรือตรึงราคาสินค้าอุปบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพเพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาชน
นาวาโทหญิงวรรณพร มาศเกษม นายกสมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า แนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการให้ผู้ประกอบการปรับลดราคาสินค้าลงมานั้น ในส่วนของน้ำมันปาล์มคงเป็นไปได้ยาก เพราะวัตถุดิบที่ใช้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวดต้องขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้านับจากต้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบขึ้นไปถึง 100% จากกก.ละ 17-18 บาท เป็น 35-36 บาท
สำหรับสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ 33 รายการ ที่กรมการค้าภายในกลับไปพิจารณาโครงสร้างต้นทุนใหม่ตามนโยบายของ รมว.พาณิชย์ ได้แก่ ข้าวสารบรรจุถุง, ผลิตภัณฑ์นม, น้ำมันพืช, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารปรุงสำเร็จ, เนื้อสุกร, ผงซักฟอก, แชมพู, สบู่, ยาสีฟัน, ผ้าอนามัย, ถ่ายไฟฉาย, รถยนต์นั่ง, รถจักรยานยนต์, ก๊าซหุงต้ม, ปูนซีเมนต์, ปุ๋ย, ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน และค่าโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--