น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทน รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาลชุดนี้ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาและวางรากฐานแก่ข้าวไทย เป็นผลให้ข้าวไทยได้รับการยกระดับคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับและสามารถส่งออกได้สูงสุดเป็นประวัติการถึง 11 ล้านตัน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศ ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว มีเสถียรภาพ ราคาสูงกว่าในช่วงก่อนที่เข้ามาบริหารประเทศ และที่สำคัญยังได้ส่งเสริมและพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ข้าวเฉพาะทั้งด้านความหลากหลายและนวัตกรรม อันจะเป็นการสร้างโอกาสและตลาดในอนาคตของข้าวไทยให้มั่นคงและยั่งยืนในตลาดโลก
พร้อมเห็นว่า การปฏิรูปข้าวไทยของรัฐบาลที่ผ่านมาได้จัดระบบและวางระเบียบที่ถูกต้องและยังประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในแวดวงการผลิตและการค้าข้าวไทย ดังนั้นรัฐบาลชุดต่อไปที่เข้ามารับไม้ต่อขอให้ผลักดันการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย และการกำหนดนโยบายหรือมาตรการใด ๆ ควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว และไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดข้าวไทย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา
"ที่ผ่านมา เราทำงานบรรลุตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์ข้าวไทย และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะสานต่อมาตรการที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ การใช้มาตรการใดๆ เรื่องข้าวจำเป็นต้องระวัง เพราะจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง มาตรการที่ดีที่สุดคือต้องไม่บิดเบือนกลไลตลาด และรักษาคุณภาพข้าวไว้ได้ การออกมาตรการที่ง่าย เกษตรกรจะเลิกรักษาคุณภาพข้าว เพราะไม่แคร์ราคาตลาด ปลูกออกมาแล้วขาย คนรับเคราะห์คือรัฐบาลที่ต้องเข้าไปพยุงราคา" รมช.พาณิชย์ กล่าว
น.ส.ชุติมา ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้มาตรการดูแลราคาข้าวมาหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว การประกันราคาข้าวหรือประกันรายได้ ซึ่งในอนาคตรัฐบาลชุดใหม่จะพิจารณาใช้แนวทางใดเข้ามาดูแลราคาข้าวนั้นคงต้องมีการหารือกันว่ามาตรการใดจะดีที่สุด ทั้งนี้ หากคิดว่าสามารถอุดช่องโหว่ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นได้จากการใช้มาตรการประกันรายได้ สามารถกำหนดราคาที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่มีผลกระทบ และมีมาตรการอื่นออกมาเสริม ก็อาจจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาราคาข้าวประสบผลสำเร็จก็เป็นได้
"จำนำข้าวก็เคย กำหนดราคาจำนำผิด คิดจนตัวตายมาแล้ว การประกันราคาข้าวหรือประกันรายได้ หากเรากำหนดราคาประกันผิด มันก็ไม่ต่างกับการจำนำ ดังนั้นต้องขึ้นกับว่าตัวเลขอะไรที่เราไปกำหนด ถ้าเราจำนำข้าวแล้วไปกำหนดตัวเลขที่บิดเบือน หรือเป็นไปไม่ได้ จนไม่มีใครซื้อข้าว นอกจากเป็นภาระรัฐบาลต้องมาซื้อเอง แล้วขายไม่ได้ ก็ขาดทุน และกระทบกับรัฐบาล...เรื่องนี้คงต้องมานั่งคุยกันให้ชัดเจน เพียงแต่มองว่าสิ่งที่เราได้ทำไว้แล้ว และทำต่อไปได้ แล้วทำให้เข้มแข็ง ต่อเนื่อง ถ้ามันดีอยู่แล้ว ก็ฝากให้รับไว้พิจารณาด้วย รัฐบาลชุดใหม่นี้ก็คงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรต่อไป การทำตามแผนข้าวครบวงจร การใช้การตลาดนำการผลิตน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดแล้วในการดำเนินการ ส่วนจะใช้วิธีใดมาช่วยในการพยุงราคาข้าว ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันให้ถ่องแท้" รมช.พาณิชย์ระบุ
พร้อมกันนี้ ได้ฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะที่เป็นห่วงมากที่สุด คือสินค้าข้าว โดยต้องทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดน้อยที่สุด เลือกใช้วิธีการที่ทำให้รัฐบาลได้รับความคุ้มค่า สร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาได้มากกว่า ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วยังสนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558-2562 ที่รัฐบาลชุดนี้ได้วางไว้ ด้วยการใช้ภาคตลาดนำการผลิต
สำหรับยุทธศาสตร์ข้าวไทย ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 ด้วยการใช้ภาคการตลาดนำการผลิต (Demand Driven) โดยในภาคการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ (1) ควบคุมพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวให้เหมาะสม (2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว (3) ยกระดับและเพิ่มมูลค่าข้าว (4) สร้างความเข้มแข็งแก่ชาวนาและองค์กรชาวนา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด
สำหรับในภาคการตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้ (1) พัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ (2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว (3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล (4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว (5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าว (6) เพิ่มมูลค่าข้าวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (7) เชื่อมโยงห่วงโซ่ข้าวอย่างเป็นรูปธรรมและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้กำหนดกลยุทธการส่งเสริมในตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ในตลาดเฉพาะ (specialty) อีกด้วย อาทิ ข้าวสุขภาพ ข้าวสี ข้าว GAP ข้าวอินทรีย์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบแปรรูป เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำนมข้าว อาหารเสริม และอาหารเด็กหรือผู้สูงอายุ (functional food) ภายใต้แผนข้าวครบวงจร เพื่อให้การพัฒนาตลาดข้าวไทยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางมีการทำงานที่สอดประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนการดูแลรักษาเสถียรภาพด้านราคา คณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบข.) ได้มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถด้านการตลาดแก่เกษตรกรและองค์กรชาวนาโดยไม่บิดเบือนกลไกตลาดและจะต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาการผลิตโดยไม่สนใจคุณภาพของผลผลิต โดยบริหารจัดการผลผลิตในช่วงกระจุกตัว อาทิ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกและโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้คำนึงถึงผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินและความคุ้มค่า