นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2561-2580 (AEDP2018) เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018)
ท้งนี้ แผนพลังงานทดแทนในส่วนของไฟฟ้าจะมีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 29,358 เมกะวัตต์ (MW) หรือคิดเป็นสัดส่วน 33% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในปี 2580 ที่มีทั้งสิ้น 77,211 เมกะวัตต์ จากแผน AEDP2015 ที่มีสัดส่วน 20% คิดเป็น 19,684 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว ส่วนใหญ่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) 12,725 เมกะวัตต์ โดยจะมาจากโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 2,725 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 10,000 เมกะวัตต์ เดิมกำหนดว่าจะมาจากโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าประเภทโซลาร์รูฟท็อป แต่ล่าสุดกำหนดว่าในส่วนนี้จะมาจากโซลาร์ภาคประชาชนเพียง 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 9,000 เมกะวัตต์จะเปิดกว้างเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ที่มีหลากหลายประเภท รวมถึงโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น ทำให้มีต้นทุนการผลิตต่ำจนสามารถแข่งขันได้
"ตอนที่ทำแผนครั้งแรกเราคิดว่าเทรนด์ไปทางรูฟท็อปเยอะ ตอนนี้แผนเปิดกว้างขึ้นจะบอกว่าเป็นโซลาร์ฟาร์มเลยก็ไม่ใช่ อาจจะเปิดเป็น option มากกว่า เพราะอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น อาจไม่ใช่แค่รูฟท็อปทำให้เราทำเป็น option เปิดไว้"นายยงยุทธ กล่าว
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับแผน AEDP2018 ดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลใหม่จำนวน 3,496 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 64 จะเริ่มจากโรงไฟฟ้าประชารัฐใน 3 จังหวัดแดนภาคใต้รวม 120 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสละ 60 เมกะวัตต์ ,โรงไฟฟ้าขยะชุมชนใหม่ 400 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบในปี 65 ,โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพใหม่ 546 เมกะวัตต์ จะเริ่มทยอยเข้าระบบในปี 65 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม ,ขยะอุตสาหกรรม ,พลังน้ำ จะทยอยเข้าระบบในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบจะอยู่ในระดับไม่เกินกว่า 2.44 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในการรับซื้อไฟฟ้าตามโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กแบบ SPP Hybrid ยกเว้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะชุมชน ที่มีการกำหนดราคารับซื้อไว้ที่ 5.78 บาท/หน่วย เป็นเวลา 8 ปี หลังจากนั้นจะรับซื้อที่ราคา 5.08 บาท/หน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าขยะขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ และรับซื้อที่ 3.66 บาท/หน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าขยะตั้งแต่ 10-90 เมกะวัตต์ขึ้นไป เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงที่รัฐบาลให้การส่งเสริมเป็นหลัก โดยการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้กำหนดพื้นที่และขนาดของโรงไฟฟ้า
สำหรับสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ที่คิดตามหน่วยพลังงาน ณ สิ้นปี 2580 จะมาจากก๊าซธรรมชาติ 53% ,ถ่านหิน/ลิกไนต์ 12% ,ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ 9% , พลังงานหมุนเวียน 20% และการอนุรักษ์พลังงาน 6% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติ 58% ,ถ่านหิน/ลิกไนต์ 17% , ซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 11% และพลังงานหมุนเวียน 14%
นายยงยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดทำแผน AEDP2018 แล้วเสร็จในส่วนของภาคไฟฟ้าแล้ว และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนในส่วนของความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะนำมาจัดทำประชาพิจารณ์ในช่วงกลางเดือนก.ค.นี้ หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป ส่วนจะมีการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเมื่อใดนั้น เป็นเรื่องนโยบายที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาดูแล ซึ่งเบื้องต้นกพช.ได้มอบหมายให้กบง.เป็นผู้พิจารณาว่าในแต่ละปีจะเปิดรับซื้อโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงใดบ้าง ที่ผ่านมากบง.ก็ได้ข้อสรุปเรื่องการให้เอกชนเข้ามาดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงภาคตะวันตกใหม่จำนวน 1,400 เมกะวัตต์ไปแล้ว