(เพิ่มเติม) พาณิชย์ ฝากการบ้านรัฐบาลชุดใหม่เร่งขยายตลาดดันส่งออกโตเข้าเป้า 3%-มุ่งเจรจา RCEP จบปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 3, 2019 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ รักษาราชการแทน รมว.พาณิชย์ ได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ในเรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการส่งออกว่า ต้องมุ่งเป้าไปยังตลาดใหญ่เช่นจีน เพราะแม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวแต่ก็ยังคงต้องให้ความสำคัญกับตลาดนี้ โดยเข้าไปเจาะตลาดในเมืองรองมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นตลาดอินเดีย และตลาดแอฟริกา เพื่อมาช่วยทดแทนการชะลอตัวของตลาดอื่นๆ ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

ในขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศนั้น ทุกประเทศต่างพร้อมยินดีที่จะเจรจาการค้ากับไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเจรจาการค้ากับบางประเทศที่หยุดชะงักไปนั้น ขณะนี้ก็ได้เริ่มมีการหารือในระดับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และที่จะต้องผลักดันให้สำเร็จภายในสิ้นปีนี้คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเชื่อว่ารัฐมนตรีพาณิชย์คนใหม่ที่จะเข้ามานี้จะสามารถสานต่อการเจรจาการค้าของไทยกับประเทศต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี

"เราเชื่อมั่นคุณภาพของคนที่จะก้าวเข้ามาในตำแหน่งนี้ (รมว.พาณิชย์) ว่าจะดำเนินการได้ และเรามีทีมแบ็คอัพ รัฐมนตรีทุกคนมั่นใจว่าเฟอร์ฟอร์มได้หมด เรามีทีมทำงานที่เข้มแข็ง และทำต่อเนื่องมานาน ปัญหาแค่ว่าจะเจรจาต่อรองอย่างไรให้คู่ต่อรองสามารถยอมรับกันได้" รมช.พาณิชย์ ระบุ

ขณะเดียวกัน ยังมีความมั่นใจว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3% เนื่องจากได้มีการปรับรูปแบบกิจกรรมการตลาดให้เข้มข้นขึ้น ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงมีอยู่

"สภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันต้องระดมสมองจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันเพื่อฝ่ามรสุมนี้ไปให้ได้ จะว่าหนักใจก็ไม่ใช่ เพราะไม่ได้จนหนทางเสียทีเดียว ตราบใดที่รวบรวมพละกำลังที่มี ระดมสมองกัน ในส่วนของพาณิชย์ก็จะต้องทำอย่างเข้มแข็ง ไม่ปล่อยให้มากีดกันทางการค้า ต้องเข้าไปแก้ไข พยายามขยายตลาดส่งออก หรือผลักดันสินค้า กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มากขึ้น การจัดกิจกรรมต่างๆ และ link ให้กระจายสินค้าไปขายยังตลาดอื่นๆ ให้มากขึ้น" รมช.พาณิชย์ ระบุ

น.ส.ชุติมา กล่าวด้วยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จัดทำแผนขับเคลื่อนการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 เพื่อผลักดันให้การส่งออกของไทยในปี 2562 เป็นไปตามที่ได้ตั้งไว้ที่ 3% โดยการดำเนินการจะเน้นการบุกเจาะตลาดเป็นรายภูมิภาค รายประเทศ และลงลึกถึงรายเมือง และเมืองรองที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าไทย การขยายตลาดการค้าบริการ และการผลักดันให้คนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับภูมิภาคอเมริกา จะเน้นการขยายตลาดเป็นรายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากสงครามการค้า การเจาะตลาดทางผู้นำเข้ารายกลางและเล็กที่มีอยู่ประมาณ 2 แสนราย การเจาะตลาดเป็นรายกลุ่ม เช่น ฮิสแปนิก ชาวเอเชีย มิลเลนเนียล เจนแซด การเร่งประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้า บริการ และแบรนด์ไทย เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมในหมู่ผู้บริโภค และส่งเสริมให้ไทยเข้าไปลงทุนในประเทศที่สหรัฐฯ มี FTA ด้วย

ตลาดจีน จะเน้นการส่งเสริมสินค้าเป้าหมายที่ตลาดต้องการ เช่น ฮาลาล ผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง สินค้าสุขภาพและความงาม และธุรกิจบริการ การเจาะตลาดเมืองรอง ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับผู้นำเข้า และห้างสรรพสินค้า เน้นผลไม้ ในเมืองกวางโจว เซี่ยเหมิน คุนหมิง หนานหนิง ชิงต่าว เซี่ยงไฮ้ หางโจว ฉงชิ่ง ฮ่องกง รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในเมืองคุนหมิง หนางหนิง เซี่ยงไฮ้ จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจและต่อยอดความร่วมมือบนเส้นทาง Belt & Road Initiative เขตเศรษฐกิจพิเศษ Greater Bay Area เพื่อเชื่อมโยงกับ EEC ของไทย การผลักดันการค้าออนไลน์ โดยร่วมมือกับ Alibaba , JD และแพลตฟอร์มอื่นๆ และผลักดันการค้าผ่าน Cross-Border E-Commerce เข้าสู่ 35 เมืองนำร่องของจีนที่ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีและอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรจากรัฐบาล รวมถึงการใช้สื่อโซเซียลมีเดีย และอินฟลูเอนเซอร์ในการทำตลาดให้กับสินค้าไทย

ตลาดอาเซียน จะเน้นการสร้างเครือข่ายกับธุรกิจจากจีนที่ย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียน เพื่อสนับสนุนสินค้าไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ส่งเสริมการลงทุนของธุรกิจไทยในอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV เพื่อใช้ประโยชน์จาก GSP ในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เจาะตลาดเมืองรอง เช่น ดาเวา ของฟิลิปปินส์ เสียมราฐ ของกัมพูชา สุราบายา ของอินโดนีเซีย ซาบาห์ ซาราวักของมาเลเซีย มัณฑะเลย์ของเมียนมา ไฮฟองและเกิ่นเธอของเวียดนาม และแขวงอุดมไชยของลาว ผลักดันสินค้าท้องถิ่นเจาะตลาดอาเซียน ส่งเสริมการค้าชายแดน ผลักดันส่งออกสินค้าใหม่ เช่น ซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม สปา สินค้า Content เกมส์ Animation ต่างๆ ส่งเสริมการค้าออนไลน์ในอาเซียน รวมทั้งการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าและบริการของไทย

ตลาดเอเชียใต้ จะเร่งสร้างความสัมพันธ์ในระดับสูง เพื่อผลักดันความร่วมมือ การใช้ FTA ลดอุปสรรคและภาษี การเจาะตลาด 8 รัฐ 8 เมือง ที่เป็นเมืองรองของอินเดีย โดยจะมีกิจกรรมทั้งการจัดประชาสัมพันธ์สินค้าไทย การเจรจาธุรกิจ งานแสดงสินค้า ได้แก่ รัฐคุชราช เมืองเป้าหมาย อาห์เมดาบัด สุราต , รัฐมหาราษฎระ เมืองเป้าหมาย มุมไบ ปูเน่ , รัฐทมิฬนาฑู เมืองเป้าหมาย เจนไน , รัฐเตลังกานา เมืองเป้าหมาย ไฮเดอราบัด , เดลี เมืองเป้าหมาย กรุงนิวเดลี , รัฐ 7 สาวน้อย เมืองเป้าหมาย กูวาฮาติ อิมฟาล , รัฐเวสต์เบงกอล เมืองเป้าหมาย กัลกาตา และรัฐกรณาฏกะ : เมืองเป้าหมาย บังกาลอ การส่งเสริมธุรกิจไทยไปทำธุรกิจในอินเดีย การส่งเสริมธุรกิจบริการ เช่น บริการสุขภาพและความงาม รับจัดงานแต่งงาน การถ่ายทำภาพยนตร์ และบริการโลจิสติกส์

ตลาดลาตินอเมริกา จะเน้นแลกเปลี่ยนการเยือนของคณะผู้แทนการค้าระดับสูง เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าการลงทุน การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเยือนเปรู ปารากวัย และชิลี การส่งเสริมการลงทุนของไทยในลาตินอเมริกาในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น แร่ลิเธียม พลังงานหมุนเวียน เกษตรแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง (อาร์เจนตินา) แปรรูปผลไม้และอาหารทะเล พลังงานหมุนเวียน ก่อสร้าง (ชิลี) น้ำมัน ก๊าซ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ร้านอาหารไทย สปา (เม็กซิโก)

ตลาดเอเชียตะวันออกและทวีปออสเตรเลีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแปซิฟิก มีแผนจะเชื่อมโยงความร่วมมือระดับจังหวัดไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ดำเนินการไปแล้วกับวากายามะ และมีแผนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ รวมถึงร่วมมือในการพัฒนาสินค้าโดยเน้นนวัตกรรม การออกแบบ การผลักดันขยายธุรกิจค้าปลีกไทยในออสเตรเลีย ในลักษณะ Thai Town และส่งเสริมการขยายตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์

ตลาดตะวันออกกลาง จะเน้นการจัดคณะผู้แทนการค้า การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การหาทางลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เช่น การขนส่งผลไม้สดทางเรือแทนทางอากาศ การเจาะตลาดเมืองรอง เช่น โอมาน บาห์เรน อิรัก เยเมน ไซปรัส เลบานอน การสร้างภาพลักษณ์สินค้าไทย และการส่งเสริม SMEs ภูมิภาคร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในการขยายตลาดตามยุทธศาสตร์ local to Global

ตลาดแอฟริกา จะเน้นการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ การเจาะเข้าสู่ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น ตลาดเอธิโอเปียผ่านจิบูติ การจัดตั้งคณะทำงานศึกษาข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึกในภูมิภาคแอฟริกา (Special Task Force) การส่งเสริมให้มีการขยายธุรกิจไทยในต่างประเทศ (Outward Investment) ได้แก่ ส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติเหลวในโมซัมบิก โรงไฟฟ้าในแอฟริกาใต้ อาหารและเครื่องดื่มในไนจีเรีย และการจัดทำคลิปวีดิโอเผยแพร่ข้อมูลด้านการตลาดเชิงลึก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการไทย

ตลาดยุโรป จะเน้นการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสผลักดันสินค้า SMEs เข้าสู่ตลาด ประชาสัมพันธ์อาหารไทยผ่านบล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ผลักดันสินค้าท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดผ่านห้างโลตัส ร่วมมือพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม และการเจาะกลุ่มเฉพาะ เช่น ตลาด HORECA ซึ่งประกอบไปด้วยธุรกิจโรงแรม (Hotel) ร้านอาหาร (Restaurant) และกาแฟและธุรกิจจัดเลี้ยง (Café and Catering)

ตลาดรัสเซีย และ CIS จะสนับสนุนการเจรจา FTA ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย ผลักดันความร่วมมือภาครัฐและเอกชน สร้างเครือข่ายผู้นำเข้าและโลจิสติกส์ การเจาะตลาดในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย ภูมิภาคไซบีเรีย คาซัคสถาน และเบลารุส แต่งตั้งตัวแทนการค้า (Trade Representative) ณ เมืองวลาดิวอสตอค ช่วยทำหน้าที่ขยายตลาดฝั่งตะวันออกไกลของรัสเซีย และร่วมสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการส่งเสริมสินค้าและบริการของไทยกับนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ