ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย.62 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 76.4 จาก 77.7 ในเดือนพ.ค. เป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน จากความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 63.4 จาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 93.5 จาก 95.0
ปัจจัยลบที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าโลก, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 เหลือ 3.3% และปรับลดส่งออกเหลือโต 0%, การส่งออกในเดือนพ.ค.หดตัวที่ -5.79%, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 1.75%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.62 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และลดลงต่ำสุดในรอบ 21 เดือน หรือเกือบ 2 ปี ซึ่งถือว่าน่ากังวล เพราะอยู่ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ หากไม่มีปัจจัยด้านบวกเข้ามาช่วยอาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยซึมตัวต่อเนื่องได้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่เป็นตัวกดดันมากสุดที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย.62 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มาจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเมืองต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ พ.ค.57 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเปราะบางในมุมมองของประชาชน รวมทั้งยังไม่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อย่างเป็นทางการ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จึงทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองในปัจจุบัน
"แม้ว่าปัจจุบันเราอาจจะได้เห็นความชัดเจนของหน้าตา ครม.แล้ว แต่ความรู้สึกถึงการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลยังอยู่ในมุมมองของประชาชน ทำให้ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตหดหายไป คนไม่มั่นใจว่าปัจจัยโลกที่ไม่ชัด และรัฐบาลจะสามารถเยียวยาหรือทำให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นได้จริงหรือไม่" นายธนวรรธ์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่อาจจะเป็นตัวพลิกผันให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีภาพที่ดีขึ้นได้ คือ การเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ที่กระทรวงการคลังได้เตรียมเม็ดเงินไว้แล้วราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่จะนำมาตรการใดออกมาใช้ และใช้กับกลุ่มใด ในช่วงระยะเวลาใด เพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น
"คงดูว่ารัฐบาลใหม่โดยทีมเศรษฐกิจ จะมีมาตรการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นหรือไม่ อย่างไร ใช้วงเงินเท่าไร 5 หมื่นล้านบาท หรือใช้เต็ม max ที่ 1 แสนล้านบาท และจะเริ่มต้นเมื่อไร ซึ่งหากเริ่มใช้หลังมีครม.ใหม่ คือตั้งแต่ส.ค. หรือ ก.ย.62 เม็ดเงินทุกๆ 5 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นได้ 0.2-0.3% แต่หากใช้เต็มที่ 1 แสนล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นขึ้นได้ 0.5-0.7% ดังนั้นความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3.5% ในปีนี้ จึงมีทางแก้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะออกมา" นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่ประชาชนมีความกังวลนอกเหนือไปจากเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่นิ่งแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องเงินบาทแข็งค่า ซึ่งมีผลต่อการส่งออก การท่องเที่ยวในประเทศ และราคาสินค้าเกษตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลงทั้งในด้านการส่งออกและการท่องเที่ยวจากที่เงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง
"ตั้งแต่ต้นปี 62 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 6% แต่หากเทียบกับ ม.ค.60 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 14% ขณะที่ไม่มีค่าเงินประเทศที่เป็นคู่แข่งแข็งค่าเท่าบาทของไทย ทั้งเงินหยวนจีน เงินด่องเวียดนาม และเงินรูเปียะห์อินโดนีเซีย ที่ต่างอ่อนค่าลง จึงทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากค่าเงินจริงๆ "นายธนวรรธน์กล่าว
พร้อมระบุว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มจะแข็งค่าไปมากกว่าปัจจุบัน โดยมีโอกาสจะแข็งค่าหลุดระดับ 30 บาท/ดอลลาร์ได้ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศนิ่ง โดยมีความชัดเจนของหน้าตาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สามารถบริหารประเทศได้อย่างเต็มที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ​ ซึ่งจากเดิมที่นักลงทุนอาจมีความไม่มั่นใจในประเด็นของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้น ก็จะคลายความกังวลในจุดนี้ลงไปได้ และเริ่มมีความมั่นใจที่จะนำเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ ในประเทศ
"การลงทุนในประเทศที่เคยติดเงื่อนไขว่าต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เงื่อนไขนี้จะคลายหมด 100% เราคาดว่าเงินทุนที่จะไหลเข้ามาภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนี้ เงินทุนจะไหลเข้าในตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ได้ง่าย บาทจึงมีโอกาสจะแข็งค่ากว่า 30 บาท/ดอลลาร์" นายธนวรรธน์ระบุ
พร้อมเห็นว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงสนับสนุนให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และมองว่ามีเหตุผลมากเพียงพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้ เนื่องจากส่วนหนึ่งอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่ 1-4% โดยปัจจุบันทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ต่ำกว่า 1%
"เงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ต่ำกว่า 1% มีผลจูงใจเพียงพอที่จะไปทบทวนว่าดอกเบี้ยของเราสูงเกินไปไหม และลดได้ไหม นอกจากนี้เงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่ถึง 1% ทำให้เห็นว่าอำนาจซื้อของประชาชนยังซึมตัวและไม่กระเตื้อง ดังนั้นจึงมีเหตุผลเพียงพอที่ กนง.จะลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบอย่างมั่นคง และเพื่อประโยชน์ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะยาว...การลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลเงินเฟ้อจึงมีเหตุผลมากเพียงพอที่เราจะเริ่มเป็นผู้นำในการลดดอกเบี้ยนโยบายได้" นายธนวรรธน์ระบุ
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้การลดดอกเบี้ยจะไม่ใช่เป้าหมายหลักเพื่อต้องการลดการแข็งค่าของเงินบาทลง แต่การลดดอกเบี้ยเพื่อไมให้เงินบาทแข็งค่ามากไปกว่าปัจจุบันก็น่าจะสามารถทำได้ และถือเป็นผลพลอยได้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถนำมาเป็นข้อมูลในการพิจารณาสำหรับการประชุม กนง.ครั้งต่อไปได้
อย่างไรก็ดี ม.หอการค้าไทย ยังคงประเมินว่า ในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 3.5% หรือในกรอบ 3.3-3.8% โดยเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก เติบโตได้ 2.9-3% ส่วนครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตได้ 4% ขณะที่มองว่าการส่งออกไทยปีนี้ จะเติบโตเพียง 0.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ระดับ 1%