นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ชี้แจงทำความเข้าในการดำเนินโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรว่า โครงการเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศ ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ และส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เป็นการนำน้ำยางพารามาใช้ในการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ในหมู่บ้าน
ซึ่งจากที่ประชุมเมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ได้มีข้อคิดเห็นจากผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เห็นควรมีการรับรองคุณภาพมาตรฐานวัสดุที่ใช้ในการทำถนนพาราซอยซีเมนต์ ซึ่งได้แก่ น้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม เนื่องจากเป็นวัสดุชนิดใหม่และมีผลโดยตรงต่อมาตรฐานหรือข้อกำหนดของถนนชนิดนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เป็นผู้จัดจ้างทำถนน อาทิ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพวัสดุว่าจะเป็นไปตามคู่มือแนะนำการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับงานท้องถิ่นของกรมทางหลวง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุผลิตภัณฑ์ "น้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม" เจตนาเพื่อรับรองบริษัทที่มีผลงานเป็นมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วกัน แต่มิได้บังคับให้ที่หน่วยงานใดจะต้องมาซื้อกับบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการชุดนี้
ทั้งนี้ หากบริษัทใดสามารถผลิตน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม ได้ตามมาตรฐานของหลักวิศวกรรมที่คู่มือกำหนดไว้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากคณะกรรมการฯ สามารถให้หน่วยงานทางวิศวกรรมอื่นรับรองได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาในการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างถนน และบริษัทจะไม่เสียสิทธิ์ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามระเบียบพัสดุฯที่กรมบัญชีกลางประกาศไว้ และถนนที่สร้างต้องได้คุณภาพตามมาตรฐานกรมทางหลวงกำหนดเท่านั้น