ธ.ก.ส.เตรียมวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 6 พันลบ.หนุนชาวไร่อ้อยใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดปัญหาการเผา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 4, 2019 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และโรงงานน้ำตาลทรายดำเนินโครงการ สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร ปี 2562 ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก้าหนดวงเงินให้กู้ปีละ 2,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปีตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ให้แก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร สถาบันชาวไร่อ้อย กลุ่มบุคคล และวิสาหกิจชุมชน นำไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การปรับ พื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม กับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่อ้อย การจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ได้แก่ รถตัดอ้อย รถคีบอ้อย เครื่องตัดอ้อยแร๊พเตอร์ เครื่องสางใบอ้อย เครื่องอัดใบอ้อย เป็นต้น

โดยมีโรงงานน้ำตาลที่เข้าร่วมเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยและรัฐบาลเป็นผู้รับภาระส่วนต่างของดอกเบี้ยในโครงการ ยกเว้นกรณีขอสนับสนุนสินเชื่อเครื่องจักรกลการเกษตร ประเภทรถบรรทุกหรือรถแทรกเตอร์ จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ แก้ไขการขาดแคลนแรงงาน และลดปัญหาการเผาอ้อย รวมทั้งยังช่วยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันสามารถมีเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในแปลงไร่อ้อยของตนเองช่วยในการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนในระยะยาว

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการต้องเป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยหรือกลุ่มชาวไร่อ้อยอื่นๆที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกอ้อยกับสำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย โดยสามารถยื่นใบสมัครได้ที่โรงงานน้ำตาลที่ตนเองส่งอ้อย เมื่อผ่านขั้นตอนการสมัครและได้รับความยินยอมจากโรงงานน้ำตาลในการค้ำประกันแล้ว สามารถขอสนับสนุนสินเชื่อผ่านคณะทำงานตามที่ สอน. กำหนด วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 29 ล้านบาท ตามประเภทและวัตถุประสงค์การกู้ของเกษตรกร

นายศรายุทธ กล่าวต่อว่า โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562 – 2564 จะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นจากการเผาอ้อยได้ แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีไม่เพียงพอ รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกอ้อยให้เป็นแปลงใหญ่และเหมาะสมกับการใช้เครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตร ช่วยลดระยะเวลาในการปลูกและการเก็บเกี่ยวเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนได้ในระยะยาว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ