นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) มาอยู่ที่เติบโต 3.3% จากเดิมที่คาดว่าเติบโต 3.8% จากปัจจัยความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ชัดเจนและรุนแรงมากขึ้น พร้อมปรับลดการส่งออกเหลือเติบโตเพียง 0.8% จากเดิม 4%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารมองว่ายังมีโอกาสสูงที่สงครามการค้าจะยังยืดเยื้อต่อไป และส่งผลกระทบต่อภาพการค้าโลกต่อไป และส่งผลกระทบมาถึงการส่งออกของไทยที่ยังเผชิญกับความเสี่ยงค่อนข้างมากจากปัจจัยภายนอก ซึ่งหากผลกระทบจากปัจจัยสงครามการค้ากระทบต่อภาคการส่งออกไทยในปีนี้หดตัวลงมากกว่าประมาณการ จะกดดันให้ธนาคารอาจจะปรับลดประมาณการ GDP ในปี 62 ในช่วงเดือนก.ย.นี้ ลดลงต่ำกว่าประมาณการณ์ใหม่ที่โต 3.3%
สำหรับในปี 63 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3.6% ส่วนส่งออกคาดเติบโต 2.5% โดยมีความท้าทายเพิ่มเติมจากการที่เวียดนามได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในการส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้น
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ Chief Markets Strategist KTB กล่าวว่า ปัจจุบันทิศทางของค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯในปีนี้ 2 ครั้ง หลังเฟดส่งสัญญาณว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพราะเริ่มเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯตั้งแต่เดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทยมากในช่วงที่ผ่านมา และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และธนาคารได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทในปีนี้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 30.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ 31.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน มองว่าค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะแข็งค่าหลุดไปที่ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯได้ หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ตามที่ตลาดและธนาคารคาด ซึ่งธนาคารมองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในการประชุมปลายปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯลดลงมาอยู่ที่ 2% ต่อปี จากปัจจุบันที่ 2.5% ต่อปี และอีก 1 ครั้งในช่วงต้นปี 63 ซึ่งจะทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้นอีก ส่งผลต่อการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แต่อย่างไรก็ตามกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามายังมีโอกาสที่ไหลออกไปบ้างได้ จากการขายทำกำไร ทำให้โอกาสที่คาดเงินบาทจะแตะ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้มีโอกาส 5-10%
สำหรับทิศทางของกระแสเงินทุนไหลเข้านั้นธนาคารมองว่าจะมีโอกาสไหลเข้ามาได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่ครึ่งปีแรกมีกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทยไปแล้วกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเกือบเข้าใกล้ประมาณการของธนาคารที่คาดไว้ที่ 1 แสนล้านบาทในปีนี้ และไหลเข้าตลาดหุ้นไทยไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกกว่า 4 หมื่นล้านบาท ใกล้กับประมาณการที่ 5 หมื่นล้านบาท
"หากการส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดชัดเจนมากขึ้น และภาวะเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยหนุนจากการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ จะทำให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังอีก 3-4 หมื่นล้านบาท"
นายมานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย สายงาน Global Business Development and Strateg KTB กล่าวว่า ภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้เป็นปีของการปรับฐาน จากปัจจัยกดดันของการเริ่มบังคับใช้เกณฑ์ LTV ใหม่ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 62 ในส่วนของยอดโอนจะหดตัว 10% เป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการต่างเร่งโอนโครงการในช่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ในปัจจุบันเห็นการชะลอตัวของยอดโอนเกิดขึ้น
ในส่วนของยอดขายนั้นก็มีแนวโน้มปรับตัวลดลงตาม รับผลของเกณฑ์ LTV ใหม่ที่ทำให้ยอดขายปรับตัวลดลงต่ำกว่า 40% มาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/62 ที่มียอดขาย 34% และลดลงมาที่ 30% ในช่วงไตรมาส 2/62 แม้ว่าจะมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จากภาครัฐออกมา แต่ยังถือว่าเป็นการกระตุ้นในกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนน้อยที่มีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.6-0.8% ทำให้มาตรการดังกล่าวไม่สามารถกระตุ้นยอดขายและยอดโอนของภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยให้กลับมาฟื้นตัวได้ แต่การปรับฐานในปีนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่มีความน่ากังวลที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและภาพรวมของเศรษฐกิจไทย