น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ในปี 2563 เฟซบุ๊กมีแผนจะเปิดให้บริการ Libra หรือเฟซบุ๊คคอยน์ ซึ่งเป็นระบบเงินเสมือนนั้น กระแส Libra ทำให้เกิดการตื่นตัวทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งในมุมของผู้ให้บริการ ภาคเอกชน ประชาชน รวมถึงหน่วยงานที่กำกับดูแล เพราะทางเฟซบุ๊กพยายามจะสร้างบริการที่จะช่วยลดต้นทุนในการโอนเงินหรือการชำระเงินข้ามประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
"บริการที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจใช้เวลานาน และมีต้นทุนสูง ดังนั้น Libra จะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้ว่าทำให้ประสิทธิภาพการโอนเงิน การชำระเงินข้ามประเทศทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวกมากขึ้น ลดต้นทุน และระยะเวลาลง จากที่เคยต้องผ่านตัวกลางหลายทอดจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเขาพยายามจะแก้ไขในส่วนนี้" น.ส.สิริธิดากล่าว
พร้อมระบุว่า ในฐานะที่ ธปท.เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับกระแสดังกล่าว โดยล่าสุดได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อศึกษารายละเอียดของ Libra ให้เข้าใจถึงกลไกการทำงานของระบบนี้ และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุด ทางธปท.ได้รับการติดต่อจากบริษัทเฟซบุ๊ก เพื่อจะเข้ามาหารือร่วมกันในรายละเอียดต่างๆ ร่วมกันในเร็วๆ นี้
"เราได้ศึกษาและติดตามพัฒนาการ ข่าวสารต่างๆ รวมถึงใน white paper ที่เขาออกมาด้วยอย่างละเอียด เพื่อทำความเข้าใจ model ที่เขาออกแบบมาเป็นอย่างไร ใช้การแบบไหน เราต้องเข้าใจกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีจุดที่เราจะต้องเป็นห่วงในจุดไหนบ้าง เราได้ตั้งทีมขึ้นมาศึกษา เพราะเรื่องนี้ไม่ได้แค่เกี่ยวข้องกับการโอนเงิน ชำระเงิน แต่เกี่ยวข้องกับ FX ด้วย และเกี่ยวข้องกับบริบทของภาคสถาบันการเงินด้วย เราจะมีฝ่ายกฎหมายที่เข้ามาช่วยดูกฎเกณฑ์ต่างๆ" น.ส.สิริธิดา กล่าว
พร้อมระบุว่า จากในเบื้องต้นที่ได้ศึกษาเรื่อง Libra นั้น ธปท.ได้ให้ความสำคัญกับหลายมิติ ทั้งในแง่ของความปลอดภัยของระบบ ความเสถียรของระบบ ตลอดจนข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจจะนำไปสู่การใช้ในช่องทางที่ไม่สุจริต และที่สำคัญคือการดูแลผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการหากประสบปัญหา จะมีช่องทางใดที่ลูกค้าสามารถติดต่อหรือร้องเรียนได้ เป็นต้น
"ยังต้องมีอีกหลายรายละเอียดที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เรามองว่าคงไม่ใช่แค่ประเทศเราประเทศเดียว ต้องมีประเทศอื่นๆ ที่ Libra จะครอบคลุมหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้นกฎเกณฑ์การดูแล หรือเรื่องสภาพเศรษฐกิจ บริบทของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน จะสามารถทำให้ระบบนี้ให้บริการได้อย่างทั่วถึงทั่วโลกได้อย่างไร เป็นมิติที่เราต้องดูในรายละเอียดเพิ่มเติม" น.ส.สิริธิดากล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.ได้มีข้อแนะนำไปยังประชาชน และภาคธุรกิจว่าไม่ควรเร่งด่วนตัดสินใจในการเข้าไปใช้บริการหรือเข้าไปลงทุน แต่ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด และติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงหรือความเสียหายที่จะอาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
น.ส.สิริธิดา ยังกล่าวถึงพัฒนาการในการใช้บริการระบบพร้อมเพย์ในประเทศว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.60 ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการระบบพร้อมเพย์จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีผู้มาลงทะเบียนใช้งานแล้วถึง 49 ล้านเลขหมาย มีปริมาณการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 100 ครั้ง/คน/ปี จากในช่วงแรกที่ไม่ถึง 60 ครั้ง/คน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นพัฒนาการที่ก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีที่เปิดให้บริการมา
น.ส.สิริธิดา กล่าวด้วยว่า ธปท.มีกำหนดจะจัดงาน Bangkok Fintech Fair 2019 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 18-19 ก.ค.62 ที่ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของไทย นำความก้าวหน้าของบริการทางการเงินและเทคโนโลยีทางการเงินที่หลากหลายมาแสดง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาด้าน Fin Tech
ทั้งนี้ ภายในงานจะได้พบกับวิทยากรจากองค์กรชั้นนำด้านการเงิน และ FinTech จากหลากหลายประเทศ, Presentation & Showcases จาก FinTech รุ่นใหม่ที่มีการเติบโตรวดเร็ว เทคโนโลยีการเงินล่าสุดและการประยุกต์ใช้จริง รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของกลุ่มประเทศในอาเซียนด้วย