นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. ได้ร่วมกับสถาบันพลาสติก นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมพลาสติก โดยคำนึงถึง 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริโภค การจัดการของเสียและการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่
ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อผลักดันผู้ประกอบการรีไซเคิลให้ดำเนินธุรกิจตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมการปรับรูปแบบธุรกิจ สร้าง Circular Enterprises/Startups เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนานและเอื้อต่อการนำไปรีไซเคิลได้ง่าย การนำวัสดุจากการรีไซเคิลวัสดุชีวภาพ และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
นายอดิทัต กล่าวต่อว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมกับกระทรวงการคลังจัดทำมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยผู้ซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกชีวภาพชนิดที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะได้รับลดหย่อนภาษี 1.25 เท่า เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562-31 ธันวาคม 2564 และได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย Factory 4.0 เพื่อขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่การปฏิบัติตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกระบวนการทางธุรกิจ
ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้ "2018 Circular Economy Action Package" ครอบคลุมเป้าหมายและนโยบายในการลดขยะพลาสติก การลดการฝังกลบขยะ และเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกผลักดันอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกสินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกของไทยไปยัง EU อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้าและปรับเปลี่ยนธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น