ธนาคารโลก (World Bank) เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุด โดยระบุว่า ช่วงต้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวลง โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะชะลอการเติบโตลงมาอยู่ที่ 3.5% จากปีก่อนที่เติบโต 4.1% ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวเหลือ 4% ในไตรมาสแรกของปี 2562 นับเป็นการหดตัวไตรมาสแรกในรอบ 3 ปี โดยคาดว่าในปีนี้ การส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 2.2% ส่วนการนำเข้า ขยายตัวได้ 3.9% ด้านการลงทุนของภาคเอกชนและการบริโภคของครัวเรือน ยังคงเติบโตใกล้เคียงกับระดับสูงสุดที่เคยมีมาในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยด้านบวกจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ การเพิ่มการจ้างงาน และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อมาใช้ดำเนินการ
ขณะเดียวกันการลงทุนภาครัฐลดลง เนื่องจากการดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ชะลอตัว อันเนื่องมาจากการเลือกตั้งที่ล่าช้า มีผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงที่ 2.8% ในไตรมาสแรกของปี 2562 ซึ่งเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกนับจากกลางปี 2558
นอกจากนี้ ธนาคารโลก ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะเติบโตได้ 3.6% จากเดิมคาด 3.9% และเติบโตได้ 3.7% ในปี 2564
ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในอนาคต ความกังวลที่มีต่อความมั่นคงของรัฐบาลผสมที่เกิดจาก 19 พรรคการเมือง มีผลด้านลบต่อนักลงทุนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงอาจมีผลต่อความล่าช้าในการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลให้ทันกำหนดการที่วางไว้
นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากประเทศไทยลดลง และไม่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก
"ความต่อเนื่องของนโยบาย และการดำเนินการโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ตามที่ได้วางแผนไว้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน...การเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคให้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น และการใช้ประโยชน์จากการที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าและการบริการ" นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าว
ธนาคารโลก ยังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.1% ซึ่งใกล้กับกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อ ในขณะที่สภาวะภายนอกที่อ่อนแอ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในที่มีความยืดหยุ่นทำให้ดุลการชำระเงินเกินดุลลดลง อย่างไรก็ดี เงินสำรองจากการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทสยังคงมีมากเพียงพอสำหรับการนำเข้าและการชดใช้หนี้ต่างประเทศในระยะสั้น
นอกจากนี้ เงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง การขาดดุลการคลังยังอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ แม้ว่ารายได้ภาครัฐจะมีแนวโน้มลดลง พร้อมคาดว่าหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 42.6% ต่อจีดีพี ทั้งนี้ ภาคการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีทุนส่วนเพิ่มเพื่อสำรองไว้ในยามฉุกเฉินที่เข้มแข็ง แต่ยังมีประเด็นที่น่ากังวล คือ หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง
ธนาคารโลก ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยเห็นว่าความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายและโครงการที่ส่งเสริมการเติบโตอย่างทั่วถึง จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จได้ ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ผ่านการเติบโตอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ดี การพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำมีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก การจะก้าวเข้าสู่ประเทศที่มีรายได้สูงโดยไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลงนั้น รัฐบาลจะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงไปสู่ภูมิภาคที่ยังด้อยกว่า ในขณะเดียวกัน รัฐต้องปฏิรูปและขยายบริการทางการศึกษา ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรือกิจการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งเพิ่มความเข้มแข็งของระบบสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบและผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ การปรับปรุงการใช้จ่ายงบลงทุนจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสิ่งที่สำคัญมาก คือ ควรเร่งปรับปรุงวิธีการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนภาครับจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การลงทุนภาคเอกชน กุญแจสำคัญอีกด้าน คือ การปรับปรุงการบริหารจัดการหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะเชื่อโยงกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการ EEC โดยรัฐควรจะปกป้องฐานภาษี ไม่ให้เกิดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลอย่างแท้จริง
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า รายงานตามติดเศรษฐกิจไทยฉบับล่าสุดนี้ มีหัวข้อพิเศษเรื่องการให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง เนื่องจากประเทศไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องการขยายการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายด้านคุณภาพของบริการทางการเงิน โดยใช้ดิจิทัลและการเข้าถึงบริการบรอดแบนด์
"การขยายบริการดิจิทัลไปยังประชากรกลุ่มที่ยังไม่เข้าถึงบริการนั้น จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำตามที่ได้ยุทธศาสตร์ชาติได้วางแผนไว้...ในส่วนของธุรกิจฟินเทคที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยนั้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนระบบนิเวศของฟินเทคเป็นเรื่องที่สำคัญมาก" นายเกียรติพงศ์ระบุ