นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ 3/50 ระหว่างวันที่ 14 – 18 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 3 เพื่อนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินการต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2562 ก่อนเสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากการประชุม SEOM จะเป็นการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศแล้ว ยังมีการประชุมระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา 9 ประเทศด้วย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการประชุม SEOM ครั้งนี้ จะหารือประเด็นที่สำคัญ เช่น ความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ (Priority Economic Deliverables) ความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานสาขาต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ SEOM บทบาทเชิงรุกของอาเซียนในเรื่องการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และการเตรียมท่าทีอาเซียนก่อนพบกับคู่เจรจา 9 ประเทศ เป็นต้น
รวมทั้งการพบหารือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ อาทิ เครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) และผู้แทนโครงการสนับสนุนด้านการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนจากสหภาพยุโรป (ARISE Plus)
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะต้องดำเนินการให้สำเร็จ ใน 3 ด้าน 13 ประเด็น ปีนี้ ได้แก่ (1) การเตรียมอาเซียนรับมืออนาคต เช่น การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น
(2) ความเชื่อมโยง เช่น การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นต้น และ (3) การสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เช่น การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน เป็นต้น
โดยอาเซียนสามารถดำเนินการได้สำเร็จแล้ว 2 ประเด็น คือ การพัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน ซึ่งที่ประชุม SEOM จะติดตามความคืบหน้าในประเด็นที่เหลืออีก 11 ประเด็นต่อไป
สำหรับการดำเนินงานของคณะทำงานสาขาต่างๆ ซึ่ง SEOM จะต้องติดตามความคืบหน้า เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พ.ศ. 2568 (AEC Blueprint 2025) เช่น คณะทำงานด้านการค้าสินค้า/ถิ่นกำเนิดสินค้า เรื่อง การใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ซึ่งขณะนี้สมาชิกอาเซียนสามารถตกลงระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าร่วมกันได้แล้ว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมีนาคม 2563 คณะทำงานเรื่องมาตรฐานและคุณภาพในการจัดทำความตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (MRA ยานยนต์) ที่ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วและอยู่ระหว่างการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย เพื่อให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนลงนามในเดือนกันยายน 2562
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการพบหารือระหว่าง SEOM กับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และรัสเซีย จะมีประเด็นหารือที่สำคัญ เช่น (1) ติดตามความพร้อมของประเทศสมาชิกในการเริ่มใช้บังคับกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าฉบับใหม่ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน (ACFTA) และความคืบหน้าความร่วมมือต่างๆ ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง
(2) ติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้พิธีสารฉบับที่หนึ่ง เพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งได้ลงนามพิธีสารฯ ครบทุกประเทศ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 (3) หารือความคืบหน้าการเตรียมการเพื่อยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ให้เป็นความตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานสูงขึ้น และหารือท่าทีร่วมในเรื่องการปฏิรูป WTO และ (4) ความคืบหน้าการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนมีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2560 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันการส่งออกของไทยไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 27% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย