นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า สินค้าพืชผักและผลไม้ของไทยถือเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) ซึ่งมีผลให้จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ของไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างข้อได้เปรียบและขยายโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าผักผลไม้ไทยอย่างมาก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การส่งออกผักและผลไม้ไปจีนของไทยขยายตัวถึง 1,312% โดยในปี 2561 ไทยส่งออกผักและผลไม้ไปจีนรวม 1,927.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 สินค้าผักและผลไม้ไทยไปตลาดจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าการส่งออก 1,199.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 31%
นางอรมน กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแยกรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้าพืชผักของไทย ครองอันดับ 1 ในจีน โดยในปี 2561 การส่งออกสินค้าพืชผักของไทยมีมูลค่า 909.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึง 784% เมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ และ ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 การส่งออกพืชผักของไทยไปจีนมีมูลค่า 361.08 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสินค้าส่งออกสำคัญคือมันสำปะหลัง คิดเป็นสัดส่วนถึง 96% รองลงมาคือพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว และผักแห้ง เช่น เห็ดหูหนู ตามลำดับ
นอกจากนี้ สินค้าผลไม้ไทย ถือเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูง โดยในปี 2561 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนมูลค่า 1,017.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 3 รองจากฮ่องกงและชิลี ซึ่งขยายตัวถึง 2,841% เมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลงฯ และยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีมูลค่า 838.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึง 123% โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดถึง 48.54% รองลงมาคือลำไย มังคุด และมะพร้าวอ่อน เป็นต้น
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดจีน เป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อและจำนวนประชากรสูงถึง 1.4 พันล้านคน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าผักและผลไม้กับจีนมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลง ACFTA มีผลใช้บังคับพบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าผักผลไม้กับจีนอยู่เพียง 100.22 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับจีนถึง 854.75 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ปัจจุบันประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยและจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีการกำหนดระบบสุ่มตรวจสินค้าผักและผลไม้นำเข้าที่พรมแดนจะต้องผ่านมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานกระบวนการจัดการคุณภาพเกษตรกรที่ดี (GAP) มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงเรื่องแมลงศัตรูพืช/ปริมาณสารเคมีตกค้าง และมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เป็นต้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการส่งออกผักผลไม้ของไทยไปจีน จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบไทยที่จะส่งออกผักผลไม้ไปจีนให้ความสำคัญกับการผ่านมาตรฐานต่างๆ ข้างต้น รวมทั้งการขึ้นทะเบียนสวน และโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่พบปัญหา" นางอรมน กล่าว