SCB EIC หั่น GDP ไทยปีนี้เหลือโต 3.1% จากเดิมคาด 3.3% รับผลกระทบส่งออกไทยมีแนวโน้มหดตัว, การลงทุน-บริโภคยังชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 9, 2019 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า อีไอซีปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 ลงเหลือขยายตัว 3.1% จากประมาณการเดิมที่ 3.3% จากการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการค้าและการลงทุนของโลกที่ชะลอลงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

โดยสหรัฐฯได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจาก 10% เป็น 25% ในส่วนของสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนก็มีมาตรการตอบโต้กลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% เช่นกัน และแม้ล่าสุดจากการประชุม G20 ช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ทางจีนและสหรัฐฯได้พักการขึ้นภาษีลงชั่วคราว แต่ยังมีโอกาสที่จะกลับมาปะทุและทวีความรุนแรงในช่วงข้างหน้า ทั้งนี้จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินในทิศทางผ่อนคลาย (Dovish) มากขึ้น

อย่างไรก็ตามคาดว่านโยบายผ่อนคลายดังกล่าวจะทำได้เพียงช่วยพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ อีไอซีจึงมีการปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวของมูลค่าส่งออกเป็นหดตัว 1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 0.6% ซึ่งในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาภาคการส่งออกไทยหดตัวไปแล้ว 5% แต่มองว่าจะเห็นภาคส่งออกไทยลดลงถึงจุดต่ำสุดในปีนี้ช่วงไตรมาส 3/62 และค่อยๆฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 4/62

นอกจากนี้ อีไอซียังได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 40.1 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ 4.8% จากเดิมที่คาดว่าจะจำนวนนักท่องเที่ยว 40.7 ล้านคน หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนชะลอตัว หลังจากเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวดี และลดประมาณการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวของนักท่องเที่ยวตามการชะลอของเศรษฐกิจในหลายประเทศและการแข็งค่าของเงินบาท

ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศได้ชะลอลงตามอุปสงค์ด้านต่างประเทศเช่นกัน การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวตามการหดตัวของภาคส่งออก การชะลอตัวของโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จากมาตรการ LTV และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังกังวลต่อประสิทธิภาพในการผลักดันและประสานนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผสมใหม่

ทางด้านการลงทุนภาครัฐ คาดว่าการลงทุนด้านการก่อสร้างยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ 7% แต่จะถูกฉุดด้วยการลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่ไตรมาสแรกหดตัวกว่า 11.7% นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากการจัดทำงบประมาณปี 63 ที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปราว 3 เดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการที่ยังไม่ได้ก่อหนี้ผูกพันและโครงการใหม่ ที่อาจจะต้องถูกเลื่อนออกไปจากไตรมาส 4/62 เป็นในช่วงไตรมาส 1/63 ซึ่งทำใหมกระทบแผนการลงทุนในช่วงปลายปีนี้

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนแม้จะได้รับแรงสนับสนุนจากการจ้างงานที่ขยายตัวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นแล้วในไตรมาส 2/62 และเพิ่มเติมหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่มีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อนที่ 4.6% มาอยู่ที่ 3.9% ในปี 62 ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายสินค้าคงทนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาผลกระทบของการจ้างงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกที่มีโอกาสเลิกจ้างพนักงานออกไปบ้าง ทำไห้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยลดลงได้อีก

อย่างไรก็ตามอีไอซีมองว่าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ รัฐบาลควรรีบออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นออกมา ทำให้การบริโภคในประเทศสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ระยะสั้น ซึ่งมองว่าเม็ดเงินที่ควรจะอัดฉีดเข้าหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่จะสามารถเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ รวมไปถึงการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐออกมา เพื่อเรียกความมเชี่อมั่นของนักลงทุนและดึงดูดในนักลงทุนไทยและต่างชาติกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะของแรงงานไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

ด้านนโยบายการเงินของไทย อีไอซีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะคงที่อยู่ที่ 1.75% ในปี 62 แต่มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% ในช่วงปลายปี 62 หากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าการคาดการณ์ของกนง.ที่ ขยายตัว 3% และอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงิน ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ในช่วงปลายปีนี้เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่มองว่าหากยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% จะเป็นการใช้นโยบายดอกเบี้ยควบคู่กับการใช้มาตรการเฉพาะจุด เช่น Macroprudential measure เพื่อดูแลปัญหาเสถียรภาพระบบการเงิน นอกจากนี้อีไอซีประเมินว่าค่าเงินบาทจะยังได้รับแรงกดดันด้านแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารหลักและธนาคารกลางในภูมิภาค และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลสูงราว 7% ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองว่าค่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยในการทำเงินมาพักไว้ ส่งผลให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามาเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่ามากถึง 5% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน และแข็งค่าในรอบ 6 ปี ที่ 30.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่มองการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้อยู่ในช่วง 30-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมาจากทั้งภายในและภายนอก โดยแม้ว่าล่าสุดหลังการประชุม G20 สถานการณ์ด้านสงครามการค้าจะปรับตัวดีขึ้นบ้างจากการที่สหรัฐฯประกาศว่าจะไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าของจีน แต่ความเสี่ยงด้านสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องโดยอาจเพิ่มความรุนแรงได้เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจากการศึกษาผลประมาณการภายใต้สมมุติฐานต่าง ๆ (Scenario analysis) ของอีไอซีพบว่าในกรณีเลวร้ายที่สุด (สถานการณ์ด้านสงครามการค้าแย่ลงมากกว่าที่คาดไว้เพิ่มเติม) ในปี 62 การส่งออกของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวมากถึง -3.1% และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจชะลอลงมาอยู่ที่ 2.7%

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆที่ต้องจับตาคือความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น Brexit และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ที่อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดโภคภัณฑ์ของโลกได้ ขณะที่ ความเสี่ยงภายในประเทศมาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยแม้ว่ารัฐสภาจะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ยังมีความท้าทายอีกมาก ทั้งในเรื่องของเสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบาย เนื่องจากเสียงระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน และยังรวมถึงการประสานแนวนโยบายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลทั้งในมิติของวิธีการดำเนินนโยบายและเป้าประสงค์ของนโยบาย โดยความไม่แน่นอนด้านนโยบายดังกล่าวจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงอาจมีผลต่อการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ