ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ในจีน ตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตาสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากได้สร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่การผลิตสุกรโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับจีนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลกที่มีผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว อาจทำให้ในปีนี้จีนต้องเผชิญกับการขาดแคลนเนื้อสุกรเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และมีความจำเป็นต้องขยายการผลิตและนำเข้าแหล่งโปรตีนชนิดอื่นๆ อาทิ ไก่ โค/กระบือ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น เพื่อมาทดแทนส่วนของเนื้อสุกรที่คาดว่าหายไปกว่า 5-6 ล้านตัน
ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ไปจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่จากผลกระทบโรคระบาด ASF ในจีน หากมองถึงโอกาสทางการตลาดของไทย แม้ว่าเนื้อสุกรจะมีโอกาสสูงที่จีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่สำหรับโอกาสทางการตลาดไทยแล้วถือว่ายังน้อย เพราะการผลิตเนื้อสุกรในไทยยังเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 97% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (หรือราว 1.5 ล้านตัน) และมีเหลือเพื่อการส่งออกเพียง 3% ของปริมาณการผลิตเท่านั้น ในขณะที่เนื้อโค-กระบือ ไทยยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและส่งออก ทำให้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี
ดังนั้น ถ้าพิจารณาโอกาสทางการตลาดในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ของไทยที่จะได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้ น่าจะตกอยู่ในกลุ่มของผลิตภัณฑ์จากไก่ อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป เป็นต้น เนื่องจาก 1) จีนมีความต้องการเนื้อไก่เพื่อการบริโภคสูงมาก จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาบริโภคไก่มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูในระยะนี้ ประกอบกับเนื้อไก่เป็นโปรตีนที่ให้แคลอรี่ต่ำและดีต่อสุขภาพ สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคจีนรุ่นใหม่ที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น 2) อานิสงส์จากการที่จีนเปิดตลาดให้นำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทย (ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561) หลังจากถูกระงับการส่งออกในช่วงที่พบการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันจีนประกาศรับรองโรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทยแล้วจำนวน 7 ราย จากจำนวนโรงงานทั้งหมดในไทย 27 ราย ให้สามารถส่งออกสินค้าไปจีนได้ ขณะที่ไทยเองมีความพร้อมด้านการผลิตและส่งออก รั้งอันดับ 3 ในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ที่สำคัญของโลก (เป็นรองแค่บราซิลและสหภาพยุโรป) และในปี 2562 มีความเป็นไปได้ว่าไทยจะสามารถผลิตสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่ได้กว่า 2.4 ล้านตัน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลบวกต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยไปจีนได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ 3) การที่จีนตอบโต้มาตรการทางภาษีกับคู่แข่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดไก่เนื้อจากบราซิล โดยการจัดเก็บภาษีนำเข้าถึง 17.8-32.4% รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าไก่จากสหรัฐฯ ในอัตรา 25% เพื่อเป็นการตอบโต้การยกระดับกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้จีนพิจารณานำเข้าไก่จากไทยมากขึ้น ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบด้านคุณภาพและค่าขนส่งที่ถูกกว่าผู้ส่งออกรายอื่นๆ
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปี 2562 การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยไปตลาดจีน น่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 230-240 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตถึง 265-280% เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือคิดเป็นปริมาณการส่งออกทั้งสิ้นราว 33,200 ตัน และคาดว่าจีนจะขยับอันดับจากตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่อันดับ 7 ของไทยขึ้นเป็นอันดับ 3 ได้ในปีนี้ รองจากญี่ปุ่นและอังกฤษ โดยมีสินค้าหลักคือ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 99.8% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ดี อาจจะต้องจับตาราคาไก่ภายในประเทศ ที่อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นหลังจากความต้องการไก่เพื่อการส่งออกเติบโตแบบก้าวกระโดด
สำหรับภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทย ปี 2562 นอกจากปัจจัยบวกในตลาดจีนเรื่องความต้องการโปรตีนทดแทนเนื้อสุกรที่พุ่งสูงขึ้น การส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไทยไปยังตลาดหลักอย่าง ญี่ปุ่นก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะไก่แปรรูป จากความต้องการในตลาดที่ยังเติบโตและการขยายการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพื่อผลิตและป้อนสินค้ากลับไปยังญี่ปุ่น แต่อาจจะต้องจับตาคู่แข่งรายใหม่อย่าง เวียดนาม ที่ได้ไต่ขึ้นเป็นตลาดนำเข้าไก่แปรรูปอันดับ 3 ของญี่ปุ่นแล้ว (เป็นรองแค่ไทยกับจีน) หลังจากเริ่มส่งออกไก่แปรรูปไปทำตลาดที่ญี่ปุ่นได้เพียงแค่ 2 ปี และคาดว่าในระยะต่อไปน่าจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้น จากการเร่งพัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกและพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปเพื่อเจาะตลาดนำเข้าโดยเฉพาะญี่ปุ่น รวมถึงจับตาการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการแข่งขันด้านราคาได้ยากขึ้น เมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญในตลาดโลกอย่าง บราซิล สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไทยไปยังตลาดโลกในปี 2562 น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.8% (YoY) เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่เติบโต 10.2% (YoY) ซึ่งมีสินค้าศักยภาพสำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป ที่มีสัดส่วนกว่า 77% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ไทยไปยังตลาดโลก
อย่างไรก็ตาม แม้ในปีนี้ไทยอาจจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการโปรตีนทดแทนอย่างไก่เพิ่มมากขึ้น และการที่คู่แข่งรายสำคัญโดนจีนโต้ตอบมาตรการทางภาษี แต่ในระยะต่อไปการเจาะตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่ในตลาดจีนยังมีความท้าทายอยู่ เนื่องจากยังต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการค้าที่รุนแรงในตลาด แม้ว่าสหรัฐฯ และบราซิลจะถูกจีนตอบโต้ด้านการค้าผ่านมาตรการภาษี แต่จากการที่บราซิลเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 1 ของโลก อาจจะทำให้จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าไก่จากบราซิลอยู่ (โดยเฉพาะในกลุ่มไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่จีนนำเข้ามากที่สุดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่) เพราะจีนคงมีทางเลือกไม่มากนัก ท่ามกลางกระแสสงครามการค้าและข้อจำกัดด้านการผลิตในประเทศที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับไทยก็ยังคงต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปทำตลาดในจีนเช่นเดียวกัน เช่น อาร์เจนตินา ชิลี ฯลฯ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าเช่นเดียวกับไทยผ่านข้อตกลงทางการค้าที่ทำไว้กับจีน ทำให้ผลบวกจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่อาจมีจำกัด
นอกจากนี้ การขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยในจีน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อยอดการส่งออกในระยะข้างหน้า โดยคาดว่าผลของการระบาดของโรค ASF น่าจะทำให้ผู้ประกอบการวางแผนขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยในจีนในระยะต่อไป อาจจะเติบโตในทิศทางที่ชะลอลงจากที่เติบโตสูงในปีนี้