นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ยึดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2560 และขณะนี้อยู่ระหว่างร่างหนังสือเพื่อตอบกลับไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ถึงกรณีที่ให้ทบทวนแผน PDP2018 เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานคนใหม่ เห็นชอบก่อนส่งกลับไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดไว้ว่ารัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่า 51% มิได้นั้น สาธารณูปโภคพื้นฐาน ดังกล่าวหมายถึง ระบบเครือข่าย เช่น ถนน ทางด่วน รางรถไฟ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและสื่อสารไวไฟ และสายส่งไฟฟ้า ซึ่งได้ยกตัวอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร
ฉะนั้น ในส่วนของโรงไฟฟ้า จนถึงระบบเดินรถไฟฟ้าสามารถให้เอกชนเป็นเจ้าของได้ และเมื่อสุดท้ายสัมปทานระบบ Build-Operate-Transfer (BOT) หมดอายุลง ก็จะกลับคืนไปเป็นของรัฐทั้งหมด
ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นับเป็นเจ้าของโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าทั่วประเทศเพียงรายเดียว จึงถือว่าเป็นรัฐเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 51% ตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่กฟผ.จะต้องเข้าไปถือหุ้นในกิจการโรงไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ถือว่า โรงไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน
นายกุลิศ กล่าวว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับการชี้แจงแล้วไม่ติดใจ ก็เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะยุติลง แต่หากผู้ตรวจการแผ่นดินยังมีข้อสงสัย ก็อาจส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปหรือไม่ เพราะผู้ที่สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั้น มีเพียงครม.และผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีอำนาจในการดำเนินการดังกล่าว