สคร.เผยผลเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 8 เดือนปีงบ 62 ที่ 1.05 แสนลบ. ติดตาม 6 โครงการขนาดใหญ่ยังล่าช้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2019 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร. ได้ติดตาม โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 45 แห่งอย่างใกล้ชิด และยังคงเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้า หมาย เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีและสานต่อการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จ

โดยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค. 2561 - พ.ค. 2562) การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ปี 2562 มีผลการเบิก จ่ายงบลงทุนสะสมจำนวน 105,346 ล้านบาท หรือคิดเป็น 85% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม โดยเป็นผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม ของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณจำนวน 60,742 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินจำนวน 44,604 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ถึงแม้ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมของรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 จะได้เพียง 85% ของแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม แต่จากแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 45 แห่ง ในไตรมาส 3 ของปี 2562 คาดว่ารัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ซึ่งจะเป็นหนึ่งปัจจัยหนุนในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

สรุปผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมประจำปี 2562 ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562

หน่วย : ล้านบาท

      รัฐวิสาหกิจ	                    กรอบลงทุนทั้งปี(1)  แผนสะสม(2)  ผลเบิกจ่ายสะสม(3)  ร้อยละเบิกจ่ายสะสม/
                                                                                 แผนสะสม(3)/(2)
ปีงบประมาณ 8 เดือน (ต.ค.61-พ.ค.62)
จำนวน 34 แห่ง	                      160,682	   74,379	    60,742	         82%

ปีปฏิทิน 5 เดือน (ม.ค.62-พ.ค.62)
จำนวน 11 แห่ง	                      172,982	   50,082         44,604   	         89%

รวม 45 แห่ง	                      333,664	  124,462	   105,346	         85%
นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการเร่งลงทุนใน
โครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยมีโครงการสำคัญที่มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนเป็นไปตามแผนสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่

1. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม - มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

2. งานก่อสร้างปรับปรุงขยายของการประปาส่วนภูมิภาค

3. แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 - 2564 ของการไฟฟ้านครหลวง

4. แผนงานบำรุงรักษาและพัฒนาคุณภาพโครงข่ายเพื่อความมั่นคงของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

5. แผนงานปรับปรุงท่อเพื่อลดน้ำสูญเสียของการประปานครหลวง

อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการสำคัญของรัฐวิสาหกิจที่มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนไม่เป็นไปตามแผน และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - ชุมพร ของการรถไฟแห่ง ประเทศไทย แผนระยะยาวธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบมจ. ปตท. (PTT) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวน รอบนอกตะวันตกของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) และโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่ายระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ