ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นในวันนี้ ซึ่งนับเป็น "มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท" ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้มีการส่งสัญญาณ/ท่าทีที่เป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ โดยเงินบาทอ่อนค่ากลับมาที่ระดับ 30.85 บาท/ดอลลาร์ฯ หลังการเปิดเผยมาตรการครั้งนี้ของธปท. (จากระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 30.60 บาท/ดอลลาร์ฯ) ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ
1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของมาตรการดูแลบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) โดย ธปท.ปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของ NR ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย จาก 300 ล้านบาทต่อราย ทั้งบัญชี NRBA ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป อาทิ เพื่อชำระค่าสินค้า/บริการ และบัญชี NRBS ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่นๆ ทั้งนี้ เกณฑ์นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562 เป็นต้นไทย
2. การยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะต้องมีการรายงานลึกขึ้นถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners: UBO) โดยหมายถึงผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (NR) ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และ/หรือผู้ที่มีอำนาจทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการตัดสินใจทำธุรกรรมเพื่อถือครอง หรือลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกในไทย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนก.ค.2562 เป็นต้นไป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท. ประกาศมาตรการข้างต้นออกมา น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่สะท้อนโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม FOMC ในช่วงสิ้นเดือนก.ค. 2562 นี้เป็นอย่างเร็ว
นอกจากนี้ การปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชี NRBA และ NRBS ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย NR ดังกล่าว ยังเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของ ธปท.ที่ต้องการเลือกใช้มาตรการที่มุ่งเป้าหมายเฉพาะจุด เพื่อวัตถุประสงค์ในการสกัดเงินระยะสั้นอีกครั้ง เนื่องจากการลดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันในบัญชีเงินฝากในรูปเงินบาทของ NR เสมือนเป็นการลดช่องทางการพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.ก่อนหน้านี้ ซึ่งน่าจะช่วยสกัดเงินที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบไปยังภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนในส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้า-การลงทุนของประเทศมากนัก
ขณะที่การยกระดับความเข้มงวดในการรายงานชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงในการถือครองตราสารหนี้ น่าจะช่วยทำให้ธปท. สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเฉพาะรายในตลาดตราสารหนี้ไทยได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น
สำหรับในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มตลาดการเงินไทย ยังอาจต้องเผชิญกับหลายบททดสอบในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะผลพวงจากความไม่แน่นอนของทิศทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า รวมถึงภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น แม้เงินบาทอาจจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลง หลังการประกาศมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นในครั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาอ่อนค่าลงจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ยังคงเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยในช่วงหลังจากนี้ และหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับที่ผิดปกติ คาดว่า ธปท. ก็อาจจะกลับมาประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการ/เครื่องมืออื่นเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป
โดยคงต้องยอมรับว่าแต่ละเครื่องมือ ต่างก็มีเงื่อนไขและผลกระทบต่อตลาดในระดับที่แตกต่างกัน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองและข้อสังเกตต่อมาตรการ/เครื่องมือสำคัญที่อาจเป็นตัวเลือกในการดูแลทิศทางค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ดังนี้
1. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (โดย ธปท.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท.มีพื้นที่ในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไม่มาก (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% สูงกว่าระดับต่ำสุดที่ 1.25% ในช่วงปี 2546-2547 และ 2552-2553 อยู่เพียง 0.50%), อัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงแค่หนึ่งในหลายปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และการลดดอกเบี้ยอาจเปิดประเด็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทย
2. การแทรกแซงค่าเงินบาทให้กลับไปอ่อนค่า (โดย ธปท.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแทรกแซงอาจทำได้จำกัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้ไทยเข้าไปอยู่ในลิสต์รายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ติดตามนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด, การแทรกแซงอาจได้ผลเพียงชั่วขณะ และสามารถช่วยลดทอนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแนวโน้มของค่าเงินได้ หากปัจจัยอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
3. การเก็บภาษีเพื่อสกัดปริมาณเงินทุนไหลเข้า (โดยกระทรวงการคลัง) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประสิทธิผลของมาตรการขึ้นกับอัตราภาษีที่ถูกจัดเก็บ, มีผลกระทบต่อการคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุน และบรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทย
4. มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้น (URR) (โดย ธปท.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีผลกระทบต่อการคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุน และบรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทย, ประสิทธิผลของมาตรการ ขึ้นกับอัตรากันสำรองที่บังคับใช้กับเงินทุนระยะสั้นต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งไทยเคยประกาศใช้ที่อัตรา 30%, ถือเป็นมาตรการที่เป็นยาแรง และมีผลกระทบต่อตลาดการเงินมาก เพราะแม้จะมีการปรับลดเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นลงมาต่ำกว่า 30% ที่เคยประกาศใช้ แต่ตลาดอาจยังคงมีความกังวลว่า ธปท. อาจมีการขยับการกันสำรองเพิ่มขึ้นได้อีก หากยังมีเงินทุนไหลเข้าที่ผิดปกติ