น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยภายหลังการเข้าหารือกับกับนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ทางคณะกรรมการสรท.ได้ขอ ธปท. แก้ไขปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยน เช่น ขอให้ดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น, ให้รักษาทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในภูมิภาค
รวมทั้งให้ ธปท. จัดให้มีโฆษก หรือข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ข้อมูลทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที เนื่องจาก ข้อมูลคาดการณ์จากสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์อาจทำให้สับสน และการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อกระจายความเสี่ยง ต้องพิจารณาสกุลเงินที่เหมาะสม อาทิ เงินยูโร หรือเงินปอนด์สเตอริง อ่อนค่ากว่าเงินไทย จึงควรให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงให้มากที่สุด
นอกจากนี้ ในด้านต้นทุนการเงิน คณะกรรมการสรท.ขอให้ธปท. ประกอบด้วย ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและควบคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ จึงควรช่วยกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง, สนับสนุน SME ในการทำประกันค่าเงินในสถานการณ์ที่ผันผวนอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่องและได้มากขึ้น และ ขอให้เปิดเผยข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายเงินตราล่วงหน้า ของธนาคารพาณิชย์หรือกำหนดค่าธรรมเนียมกลาง เพื่อใช้ในการประกอบการทำประกันความเสี่ยง
ขณะที่นายวิรไท ระบุว่า การแข็งค่าของเงินบาท เกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การกำหนดนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางประเทศหลัก ซึ่งสนับสนุน sentiment ของประเทศเกิดใหม่และประเทศไทยส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนจากต่างประเทศซึ่งเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย ขณะที่ปัจจัยภายใน ประกอบไปด้วย 1) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงเทขายทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และจากการท่องเที่ยว 2) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น 3) นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะ Regional Safe-Haven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดีเนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าประเทศอื่น 4) การเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพันธบัตรไทยใน JP Morgan Index
อย่างไรก็ตาม ทาง ธปท.ได้ดำเนินมาตรการรับมือ อาทิ 1) หารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าหลักเพื่อทราบสถานการณ์และผลกระทบที่แท้จริงจากการแข็งค่าของเงินบาท 2) ปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเพิ่มแรงฝืดของเงินทุนไหลเข้าในระยะยาว ประกอบด้วย ลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย และ เพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติโดยรายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficial Ownership: UBO)
นอกจากนี้ ธปท. ได้ขอความร่วมมือ สรท.ช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการป้องกันการสวมสิทธิ์การส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อช่วยลดมูลค่าการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ และกำหนดกลไกความร่วมมือเพื่อให้เกิดการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น และส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศเพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย