นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการทำนโยบายการเงินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาจากปัจจัยสำคัญ 3 เรื่องประกอบด้วย 1.ทิศทางของเงินเฟ้อ โดยใช้กรอบนโยบายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น ซึ่งที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อไม่ได้รับแรงกดดันมากนัก และยังอยู่ในกรอบล่างของเป้าหมายที่ 1-4% 2.การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจว่ามีความสอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่ง ล่าสุดธปท.ได้ปรับลด GDP ปีนี้ลงเหลือ 3.3% จากเดิม 3.8% จากผลของสงครามการค้าซึ่งกระทบมาถึงการส่งออกและการลงทุน และความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลที่ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐต้องล่าช้าออกไป 3.เสถียรภาพระบบการเงิน โดยได้ให้ความสำคัญกับการก่อหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจในอนาคต
"การตัดสินนโยบายการเงินแต่ละครั้ง ต้องพยายามชั่งน้ำหนัก ปัจจัยทั้ง 3 ด้าน โดยการมองไปในอนาคตว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง และความเสี่ยงเหล่านั้นต่างไปจากที่เราประเมินไว้หรือไม่ เราประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รอบด้าน และมองไปข้างหน้า และเราพร้อมปรับนโยบายการเงิน ถ้าคิดว่าสถานการณ์ต่างไปจากที่เราคาดไว้" ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุ
นายวิรไท กล่าวว่า กรอบนโยบายการเงินแบบยืดหยุ่นที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการปรับให้สอดคล้องกับบริบทการพัฒนาการของเงินเฟ้อที่มีการเปลี่ยนแปลงจากหลายปัจจัย ซึ่งขณะนี้ ธปท.อยู่ในระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาทบทวนกรอบเงินเฟ้อสำหรับปี 63 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากที่สุด