นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ได้มีการปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยลดแรงกระแทกที่จะเข้ามาที่อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทมาจากปัจจัยพื้นฐานในประเทศที่ยังมีความแข็งแกร่งทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง และปัจจัยต่างประเทศจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้เงินบาทแข็งค่ามากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค
สำหรับการพิจารณาความเหมาะสมของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดย ธปท.จะทำนโยบายการเงินเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อมีคนพูดว่าทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่างไปจากประเทศอื่น และทำให้มีเงินไหลเข้ามาจนสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทนั้น ธปท.มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แรงจูงใจในการพักเงินอาจจะไม่สูงมากเหมือนที่มีการเข้าใจกัน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 1.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งยังสูงกว่าไทยค่อนข้างมาก การที่หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มมีทิศทางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมานั้น ในความจริงแล้วจะเห็นว่าประเทศเหล่านั้นมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่สูงกว่าไทยมาก และก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปมากแล้วตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับพัฒนาการทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน
"หากพิจารณาในช่วงที่ผ่านมา แรงกดดันต่อค่าเงินบาทมาจากหลายปัจจัย การเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกมีความผันผวนตาม การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง โดยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร อยู่ที่ 1,300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเพียง 10% ของยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ามาตรการดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณที่แรง เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศระมัดระวังมากขึ้นในการนำเข้าเข้ามาพักในประเทศไทย โดยค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าทันทีในวันแรกที่ออกมาตรการดังกล่าว และหวังว่าจะเกิดผลต่อเนื่องในระยะยาว ช่วยลดแรงกระแทกเมื่อมีงินไหลเข้า
"เราต้องการลดขนาดท่อเวลาที่จะเข้ามาปะทะให้เล็กลง จึงได้ออกมาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยลดแรงกระแทกของค่าเงิน...การที่เงินไหลเข้าออกอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 2-3 วัน มากระแทกให้บาทแข็งค่าเร็ว แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ตลาดเกิดใหม่ค่าเงินอ่อนค่า แต่บาทเราไม่ได้อ่อนค่าลงเร็วเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะเรามีลมใต้ปีกช่วยพยุงไว้ จากที่เราเป็น safe haven" ผู้ว่า ธปท.กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์
ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางช่วงที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ของไทย มีส่วนทำให้สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ เพราะเป็นการเข้ามาอย่างรวดเร็วในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 วัน จึงเป็นแรงกระแทกที่เกิดขึ้นกับค่าเงิน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ ธปท.ออกมาตรการ (ป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท) เพื่อลดการนำเงินเข้ามาพักไว้ในบัญชีเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ เป็นการลดขนาดท่อ เพื่อให้แรงกระแทกไม่สามารถเข้ามากระแทกได้แรงๆ รวมทั้งเพิ่มหลักเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาซื้อตราสารหนี้ในไทย ซึ่งลงลึกไปถึงรายตัว อันจะทำให้ ธปท.สามารถติดตามตรวจสอบได้ใกล้ชิดมากขึ้น
"นี่เป็นหนึ่งในมาตรการที่เราได้ทำ และเราพร้อมจะทำมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม ถ้าคิดว่ามีแรงกดดันต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย" ผู้ว่าธปท. กล่าว
ทั้งนี้ จากมาตรการล่าสุดที่ออกไปเมื่อวันที่ 12 ก.ค.นั้น ธปท.ไม่ได้หวังว่าต้องเกิดผลในทันทีต่อค่าเงินบาท เพียงแต่ต้องการสร้างให้มีกันชนเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะที่มีเงินไหลเข้ารุนแรง เพราะเป็นมาตรการที่ได้ให้เวลาในการปรับตัว ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 22 ก.ค.นี้ แต่ก็ยอมรับว่าในทางปฏิบัตินั้นทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงในทันทีหลังประกาศมาตรการดังกล่าว
"ไม่ใช่มาตรการที่เราหวังว่าจะมีผลทันที และมีผลเป็นยาแรง แต่เป็นมาตรการที่จะให้ผลต่อเนื่องในระยะยาว แต่ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นการส่งสัญญาณที่แรง เพราะตลาดได้ปรับคาดการณ์ใหม่ เงินบาทอ่อนค่าลงไปในวันแรกตั้งแต่ประกาศมาตรการ และยังรักษาระดับที่อ่อนค่าลงได้ ในขณะที่ช่วง 2-3 วันนี้จะเห็นว่าสกุลเงินของบางประเทศในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นมา แต่สกุลเงินของเราก็ไม่ได้แข็งค่า ทำให้นักลงทุนต่างประเทศต้องระมัดระวังมากขึ้นสำหรับการที่คิดว่าจะมาพักเงินช่วงสั้นๆ ไว้ในประเทศไทย" ผู้ว่าธปท. ระบุ
พร้อมย้ำว่า ไม่มีมาตรการใดที่ไม่มีต้นทุนและไม่มีผลข้างเคียง ดังนั้นการทำนโยบายหรือเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินอันใดอันหนึ่งต้องชั่งน้ำหนักถึงผลข้างเคียงต่างๆ ที่จะตามมาด้วย เพราะถ้าไปกีดกันไม่ให้เงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาได้เลย จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของไทยปรับสูงขึ้น และเป็นต้นทุนของภาครัฐ ภาคเอกชนก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น ทุกมาตรการที่ได้ประกาศออกไปจะต้องแน่ใจว่าตรงวัตถุประสงค์ และตรงกับสิ่งที่เราได้แสดงความกังวล
"เรื่องสำคัญ คือต้องให้แน่ใจก่อนว่า เหตุหรือปัจจัยอะไรที่เรากังวล พฤติกรรมแบบไหนที่เรากังวล จะเห็นว่ามาตรการของแบงก์ชาติที่ออกมาในช่วงหลังนี้ เราไม่ได้ทำแบบเหวี่ยงแห เราจะมี target มากขึ้น ทุกมาตรการที่เราทำ จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ดูว่าพฤติกรรมของกลุ่มคนแบบไหนที่ไม่พึงประสงค์ มาตรการเราก็จะเป็นลักษณะที่เฉพาะเจาะจงขึ้น" นายวิรไท ระบุ
นายวิรไท ยังกล่าวถึงการหารือระหว่าง ธปท.กับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเมื่อต้นสัปดาห์ว่า ภาคเอกชนมีความกังวลกับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้หารือกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน และที่สำคัญคือการร่วมมือกันเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างเท่าทันมากขึ้น และสะดวกมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น
ด้านนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวในการประชุมนักวิเคราะห์ (Anylyst Meeting) โดยระบุว่า ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากต่างประเทศ กล่าวคือ ธนาคารกลางของหลายประเทศหลัก มีการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งสนับสนุน sentiment ของประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นในระยะหลัง ส่วนปัจจัยภายใน มาจากดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง, สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น, นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะ reginal safe haven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี รวมทั้งการเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพันธบัตรรัฐบาลไทยในดัชนีของ JP Morgan
ทั้งนี้ ธปท.มีความกังวลและได้เข้าดูแลค่าเงินอย่างใกล้ชิด แต่มองว่ายังมีความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกจัดเป็น Currency Manipulator เนื่องจากสหรัฐฯ มีการปรับเกณฑ์การประเมินประเทศที่เข้าข่ายแทรกแซงค่าเงินให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท.ได้ปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ด้วยการลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
สำหรับภาวะอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น กนง.มองว่า ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ส่งผลมากนัก และมองว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันที่ 1.75% มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ