นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือนส.ค.จะไปตรวจเยี่ยมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหารือเรื่องการปรับปรุงหรือแนวคิดเพิ่มเติมการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับภารกิจและนโยบายภายหลังเข้ารับตำแหน่ง นายสุริยะ กล่าวว่า ได้พยายามศึกษาแผนงานที่กระทรวงได้จัดทำไว้สิ่งสำคัญคือ อุตสาหกรรมเป้าหมายทั้งยานยนต์ อาหาร และจะต่อยอดคือ 1.เทคโนโลยีชีวภาพ การพยาบาลสมัยใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย 2.การช่วยเหลือ SME ที่ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนเทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเข้าไปมีบทบาท 3.เรื่องสิ่งแวดล้อม จะทำอย่างไรให้โรงงานรักษาสภาพแวดล้อม เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก ตั้งแต่ออกแบบ ผลิต รีไซเคิลไม่ให้เกิดมลภาวะ
สำหรับเรื่องค่าแรง นายสุริยะ กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าให้เป็นไปตามระบบไตรภาคี คุยกันให้จบได้อย่างไรแล้วมาช่วยกัน เพราะกระบวนการผลิตมีตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ การขึ้นค่าแรง ในทุกส่วนก็จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค เพราะฉะนั้นต้องรอไตรภาคีไปหารือกันจนได้ข้อสรุป
สำหรับนโยบายอ้อยและน้ำตาล ซึ่งตอนนี้มีปัญหาราคาตกต่ำ จะเข้าไปดูทั้งระบบว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าสนับสนุนมากเกินไปก็จะมีปัญหา WTO ส่วนเรื่องเหมืองทองคำของบมจ.อัครา รีซอร์สเซส ขอกลับไปดูรายละเอียดก่อน
ส่วนโครงการในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยากจะขยายไปภูมิภาคต่างๆ ตอนที่ลงพื้นที่หาเสียงในนามพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชาวบ้านเรียกร้องให้กำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้างเพราะจะช่วยให้ประชาชนภูมิภาคอื่นๆไม่ต้องเดินทางมาภูมิภาคตะวันออก
ส่วนโครงการไบโออีโคโนมีเป็นโครงการที่ดีอยู่แล้วเราจะสนับสนุนให้เกิดความแข็งแรงและสร้างให้เป็นรูปธรรม
นายสุริยะ กล่าวว่า โครงการที่อยากจะทำออกมาเพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คิดไว้คือ การทำเกษตรอุตสาหกรรมที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามเน้นย้ำให้ช่วยภาคเกษตรในการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายสุริยะ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรม ต้องช่วยกันพัฒนาตามโมเดลประเทศไทย ถอดรหัสเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงของดิจิทัลกับอุปกรณ์เครื่องจักร และแรงงาน ในระบบการผลิตผ่านระบบ Internet of Things การพัฒนาฐานข้อมูลการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อช่วยในการบริหารจัดการ รวมถึงการนำระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการผลิต ซึ่งวิสาหกิจขนาดใหญ่ขนาดกลาง ขนาดย่อม หรือ SME ทั้งภาคการผลิต ภาคการบริการและภาคการค้ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับการจัดงาน Thailand Industry Expo 2019 ในครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ และ Internet of Things
"การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อการก้าวไปข้างหน้า เปลี่ยนมุมมองการขับเคลื่อนโดยภาครัฐเข้าสู่บูรณาการความร่วมมือในการสร้างสรรค์โอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ" นายสุริยะ กล่าว