(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย.ที่ 94.5 ลดลงจาก 95.9 ในพ.ค. กังวลศก.ชะลอ-ห่วงบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 18, 2019 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย.62 อยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจาก 95.9 ในเดือนพ.ค.62 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิ.ย. ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายภาครัฐ และการใช้จ่ายงบประมาณชะลอตัว กระทบต่อการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่เงินบาทแข็งค่มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้ประเทศผู้นำเข้าขอลดราคาสินค้าลง

นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความยืดเยื้อของสงครามการค้าและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจะปรับตัวลดลงแล้ว หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ลงด้วยเช่นกัน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.3 โดยลดลงจาก 102.9 ในเดือนพ.ค. เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาค ทั้งนี้รัฐบาลใหม่ควรเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการบริโภคและการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐว่าควรออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้า เพื่อให้การส่งออกของไทยสามารถแข่งขันได้ และควรพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย.62 เกิดจากความกังวลต่อปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีความยืดเยื้อ และเริ่มขยายวงกว้างออกไป ซึ่งไม่ใช่แค่สหรัฐฯ กับจีนเท่านั้น แต่ขณะนี้เริ่มขยายความขัดแย้งเข้ามาในอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วน 24% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น หากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยลง จะช่วยชะลอกระแสการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศได้ และควรพิจารณาว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยไม่ต้องรอดูผลประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ