นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จะนำคณะ ส.อ.ท.เดินสายพบรัฐมนตรีหลายกระทรวง เพื่อนำเสนอความคิดเห็นในการทำงานร่วมกัน เช่น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ตลอดจน รมว.อุตสาหกรรม, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.อุดมศึกษาฯ, รมว.คลัง รวมทั้งการนำเสนอสมุดปกขาวให้กับรัฐบาลหลังการแถลงนโยบาย
"พรุ่งนี้ จะนำร่าง white paper ไปคุยกับรองฯ สมคิด ส่วนร่างที่เป็นของ กกร. จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีหลังแถลงนโยบายรัฐบาล" นายสุพันธุ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันนั้น ทาง ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วย แต่หากรัฐบาลต้องการช่วยผู้ใช้แรงงานจริง ก็สามารถใช้วิธีปรับโครงสร้างเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นการชั่วคราว 6-12 เดือน จนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น ซึ่งจะไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการด้วย
โดยปัจจุบันลูกจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนฯ ในอัตรา 5% ของเงินเดือน นายจ้างสมทบ 5% และรัฐสมทบ 2.75% ก็ปรับเป็นรัฐจ่ายสมทบแทนลูกจ้างเป็น 7.75% และนายจ้างสมทบ 5%
อย่างไรก็ดี รู้สึกเห็นใจทั้งสถานประกอบการและผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็ก เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก ซึ่งจำเป็นต้องหาทางเพิ่มทักษะให้กับแรงงาน
ส่วนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนนั้น คิดว่าค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ บวกลบไม่เกิน 20 สตางค์ ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะได้ประโยชน์สองต่อ คือ ต่อแรกลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรม ต่อที่สองเมื่อเงินบาทอ่อนค่าจะช่วยให้สามารถแข่งขันในด้านราคากับต่างประเทศได้
ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาททันที เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ใน 3 ประเด็น คือ 1.การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับผู้ใช้แรงงาน 2.การพัฒนาคุณภาพ SMEs เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่อาจส่งผลให้ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้าง และ 3.การแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3.7 ล้านคน
นายสุชาติ ยังแสดงความเห็นถึงรัฐบาลประยุทธ์ 2 ว่า น่าจะมีเสถียรภาพในการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างน้อย 2 ปี แม้จะเป็นรัฐบาลปริ่มน้ำที่มีเสียงสนับสนุนในรัฐสภาแบบก้ำกึ่งกับฝ่ายค้าน
"รัฐบาลน่าจะผนึกกำลังช่วยกันทำงาน เพื่อลบคำปรามาสอย่างน้อยช่วง 2 ปีแรก หลังจากนั้น อาจมีประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ เช่น เรื่องผลประโยชน์" นายสุชาติ กล่าว
นอกจากนี้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยเป็นผู้นำเหล่าทัพและครั้งนี้ได้เข้ามากำกับดูแลงานกระทรวงกลาโหมด้วยตัวเอง ย่อมมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางกองทัพ