เลห์แมน บราเธอร์สได้ประกาศลดการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ลงเหลือ 9.5% จากเดิมที่ 9.8% ซึ่งการลดการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากภัยพายุหิมะที่เลวร้ายที่สุดของจีนในรอบ 50 ปี โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาส 1 คาดว่า จะอยู่ที่ 9.0% เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 10.7%
ซุน หมิงชุน นักเศรษฐศาสตร์ของเลห์แมน บราเธอร์ส กล่าวว่า พายุหิมะที่พัดถล่มจีนเป็นเวลานานนับเดือนนั้นส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งอย่างหนัก รวมทั้งยังทำให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ซึ่งอาจจะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของจีนในเดือนม.ค.และก.พ.สูงขึ้นกว่าระดับ 7.0% และทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตลอดทั้งปีอยู่ที่ 4.4% จากระดับ 3.8%
นอกจากนี้ ซุนยังได้คาดการณ์ CPI เดือนม.ค.และก.พ.ว่า จะขยายตัว 7.5% และ 7.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ โดยพายุหิมะนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ และยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลงในอนาคตอันใกล้นี้
สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนนั้น นายซุนกล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวอาจจะตกลงถึง 10% ในเดือนม.ค.และก.พ. เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 17.4% ในเดือนธ.ค. 2550 สำหรับการส่งออกคาดว่า ยอดส่งออกจะร่วงลงเหลือ 13% ในเดือนม.ค. จากระดับเดือนธ.ค.ที่ 22%
สำนักข่าวซินหัวไฟแนนซ์รายงานว่า การส่งออกในเดือนก.พ.คาดว่า จะไม่ขยายตัวเนื่องจากพายุหิมะที่พัดกระหน่ำและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฐานการผลิตต่างๆ เมื่อพิจารณาจากยอดส่งออกเดือนก.พ.ปีที่แล้วที่พุ่งขึ้น 52% เนื่องจากกลุ่มผู้ส่งออกได้จัดส่งสินค้าจำนวนมากเนื่องจากคาดหวังว่าจะมีการลดภาษีการส่งออกที่เกี่ยวพันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ซุนกล่าวต่อไปว่า การที่ไม่มีการจัดส่งสินค้าเป็นจำนวนมากในเดือนก.พ.ปีนี้ เราจึงคาดว่าการขยายตัวของยอดส่งออกจะอ่อนตัวในเดือนก.พ.แม้ว่าจะไม่มีพายุหิมะเกิดขึ้นในประเทศก็ตาม โดยยอดเกินดุลการค้าน่าจะร่วงลงเนื่องจากการนำเข้าน้อย โดยยอดเกินดุลการค้าอาจจะลดลงมาอยู่ที่ 1.30 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. และ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ. เมื่อเปรียบเทียบกับยอดเกินดุลการค้าเดือนธ.ค.ที่ 2.27 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ การส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มว่า จะดีดตัวขึ้นในเดือนมี.ค. ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์คงที่จะได้รับการกระตุ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป เนื่องจากจีนจะมีการปรับโครงสร้างอีกครั้ง ซึ่งปัจจัยนี้จะช่วยแก้ปัญหาความสามารถในการผลิตมากเกินไปได้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัตนา โทร.0-2253-5050 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th--