นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ระบุว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ล้วนมีปัจจัยเข้ามากระทบที่ส่งผลทำให้เงินบาทแข็งค่าและอ่อนค่า ซึ่งการที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีก ก็เป็นไปตามที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่าประเทศไทยมีการเกินดุลการค้า และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข้มแข็ง จึงทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำหน้าที่ในการดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยอนาคตกระทรวงการคลังและ ธปท.จะต้องหารือเรื่องนโยบายการดูแลค่าเงินร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่ากระทรวงการคลังเข้าไปแทรกแซงหรือก้าวก่ายการดำเนินงานของ ธปท.ในการดูแลค่าเงิน หรือการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเรื่องนี้คงไม่ใช่หน้าที่ที่กระทรวงการคลังจะพูด
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงนโยบายการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% ว่า สิ่งที่พรรคพลังประชารัฐเสนอไว้นั้น ไม่ได้พูดถึงการลดภาษีโดยตรง แต่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทบทวนโครงสร้างภาษีของประเทศ จากที่ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ขณะเดียวกันจะต้องพิจารณาเรื่องการสร้างรายได้ และเพิ่มรายได้ให้ประเทศด้วยว่าจะทำอย่างไร ซึ่งนโยบายการปรับลดภาษีจะต้องมองในกรอบใหญ่
"ข้างหนึ่งถ้าแตะภาษีจะตอบโจทย์รายได้รัฐในระยะยาวอย่างไร สุดท้ายแล้ว วินัยการเงินการคลังต้องไม่ถูกกระทบ เพราะฉะนั้นจะไม่พูดว่าอยู่ดี ๆ ไปปรับลดภาษี บางทีเป็นข่าวออกไป เพราะยังไม่มีโอกาสจะได้อธิบายให้ตรงจุด เพราะจะต้องดูทั้งระบบ โจทย์คือการปรับโครงสร้างภาษี ต้องช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะมีทั้งลดทั้งเพิ่ม และต้องสนับสนุนให้คนไทยมีความมั่งคั่งที่ยั่งยืนจากการประกอบอาชีพมากขึ้น ธุรกิจต้องไปได้ ประเทศจะได้ประโยชน์จากภาษีที่เพิ่มขึ้น" รมว.คลังระบุ
นอกจากนี้ ขอเวลาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องถึงการพิจารณาว่าจะขยายมาตรการลดหย่อนภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้หรือไม่ โดยพิจารณาทั้งในแง่ของประโยชน์ ความจำเป็น และผลกระทบต่อทั้งตลาดทุน และผู้ลงทุนด้วย ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ที่จะต้องมีการเสนอเข้าสภาฯ นั้น จะต้องหารือถึงความคืบหน้าเรื่องนี้กับอธิบดีกรมสรรพากรอีกครั้ง
นายอุตตม กล่าวว่า นโยบายหลักที่กระทรวงการคลังเตรียมดำเนินการ จะมีการแถลงอีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาแล้ว เบื้องต้นจากสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจภายนอกมีความผันผวน ทำให้เกิดความเสี่ยงประมาณหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งเพียงพอ เพราะล่าสุด ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทย จากมองอนาคตมีเสถียรภาพ ซึ่งดีอยู่แล้ว เป็นการมองอนาคตแบบเชิงบวก จากนโยบายเรื่องการรักษาวินัยการเงินการคลังที่สอดรับกับสถานการณ์ และเกิดความเข้มแข็งของประเทศ
ทั้งนี้ ในเรื่องเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังจะเดินหน้าการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศจากฐานราก ซึ่งแม้ว่าการส่งออกยังสำคัญ แต่โลกปัจจุบันถ้าประเทศไม่เข้มแข็งจากภายใน ขณะที่นอกประเทศมีความผันผวน ก็จะทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศเพื่อประชาชนได้เต็มที่ ดังนั้นจะมีมาตรการออกมาดูแลเรื่องของเศรษฐกิจ หากมีผลกระทบจากปัจจัยภายนอกเพื่อช่วยดูแลตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาจนถึงทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ จะเน้นขับเคลื่อนนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับประเทศไทยให้ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันก้าวทันโลก มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งภาคเกษตรกรรม, ภาคการค้า, ภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคม โดยกระทรวงการคลังจะเข้าไปดูแลในเรื่องงบประมาณ และสนับสนุนด้านการเงิน ขณะเดียวกันจะดูแลไม่ให้กระทบต่อวินัยการเงินการคลังด้วยเช่นกัน
สำหรับกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างแน่นอน คือ ภาคเกษตร โดยจะดูแลให้สามารถตอบโจทย์เกษตรกรได้อย่างตรงจุด โจทย์ของเกษตรกร คือ ยกระดับ สร้างรายได้ สร้างความมั่งคั่ง เกษตรวิสาหกิจชุมขน การค้าขายในระดับชุมชนต้องมีศักยภาพที่พัฒนาต่อไปได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้พัฒนาโครงข่ายพื้นฐานเพื่อรองรับการค้าขายออนไลน์ หรือ e-Commerce ไว้แล้ว โจทย์ต่อไปคือทำให้สิ่งเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์กับประชาชนตั้งแต่ฐานราก ติดอาวุธให้โชห่วย หรือโชห่วย e-Commerce เป็นต้น
สำหรับนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเดินหน้าอย่างไรนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า การตัดสินใจสุดท้ายอยู่ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนของพรรคพลังประชารัฐได้พูดไว้แล้วว่าจะต้องขยายผลออกไป เช่น สิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับ เพราะบัตรคนจนเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่คนไทยควรจะได้เข้าถึง อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศ
"ในมุมของผม และมุมของพรรค สนับสนุนให้เดินหน้า ส่วนวิธีการอะไร อย่างไรนั้น ขอไปทำการบ้านก่อน" รมว.คลังระบุ
ในวันนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นำสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กว่า 40 คน เข้าแสดงความยินดีกับ นายอุตตม และนายสันติ พร้อมพัฒน์ ในโอกาสเข้ารับดำรงตำแหน่ง รมว.และรมช. คลัง
นายอุตตม ได้กล่าวภายหลังว่าได้แจ้งให้ ส.ส.พรรครับทราบว่า จากนี้การทำงานของรัฐบาลจะเป็นการทำงานร่วมกันทุกพรรค เป็นสภาผู้แทนราษฎรแบบเต็มตัว และจะให้ความสำคัญกับนโยบายแก้ไขปัญหาและสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน
ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ จะจัดสัมมนา ที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21-22 ก.ค.62 ก่อนการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 25 ก.ค.62 นั้น เป็นการจัดเตรียมความพร้อมให้สมาชิกพรรคในการนำเสนอนโยบาย ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่พรรคฝ่ายค้านจะต้องมีการอภิปราย ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาร่วมงานด้วยหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของทั้ง 2 ท่านเอง คงไม่สามารถไปตอบแทนได้ว่าจะมาร่วมงานสัมมนาด้วยหรือไม่ ซึ่งพรรคก็ไม่ได้ทำเรื่องเรียนเชิญอย่างเป็นทางการ
"ในการแถลงนโยบายนั้น พรรคเริ่มมีการทำการบ้าน และแนวทางชี้แจงกรณีที่มีการอภิปราย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ โดยสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ รมว.คลัง และรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองอื่น ก็มีการกำหนดแนวทางร่วมในการชี้แจงแนวนโยบายไว้ทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะอภิปรายเรื่องอะไร ก็เชื่อมั่นว่าจะชี้แจงให้พี่น้องประชาชนเข้าใจได้อย่างชัดเจน" นายอุตตม ระบุ