น.ส.แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการจ๊อบไทย กล่าวว่า จ๊อบไทยได้ทำการรวบรวมและวิเคราะห์ฐานข้อมูลงานเพื่อรายงานสถานการณ์ความต้องการแรงงานและพฤติกรรมความต้องการของผู้สมัครงานทั่วประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 พบว่า 5 กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด คือ
1.ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 76,204 อัตรา เนื่องมาจากภาคการท่องเที่ยวที่มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังคงมีการขยายตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนมากที่สุดสูงสุด คือ จีน มาเลเซีย และอินเดียตามลำดับ (ที่มา:กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา) นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เกิดจากความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย
2.ธุรกิจยานพาหนะ/ชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 58,481 อัตรา ได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี ซึ่งกลุ่มยานยนต์รวมอยู่ด้วย ด้านทรัพยากรบุคคลจึงมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของแรงงาน เช่น กลุ่มวิศวกร และช่างเทคนิคให้มีความพร้อมมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนนี้
3.ธุรกิจบริการ จำนวน 56,893 อัตรา เนื่องจากการขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวเช่นเดียวกับธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ทำให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ มารองรับมากขึ้น ตลอดจนการใช้ชีวิตและกิจกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดบริการใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น
4.ธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 49,631 อัตรา มีปัจจัยจากการเติบโตต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก รวมถึงการก่อสร้างภาคเอกชน ทำให้ความต้องการบุคลากรในประเภทธุรกิจนี้มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
5.ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 49,365 อัตรา การบริโภคยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกมีการปรับตัวหลายด้าน ทั้งการพัฒนารูปแบบร้านค้า การเพิ่มความหลากหลายทั้งสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น
ขณะที่ 5 สายงานที่องค์กรเปิดรับมากที่สุด อันดับหนึ่ง งานขาย คิดเป็น 18.6% อันดับสอง งานช่างเทคนิค คิดเป็น 10.1% อันดับสาม งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 7.1% อันดับสี่ งานธุรการ/จัดซื้อ คิดเป็น 6.5% อันดับห้า งานวิศวกรรม คิดเป็น 5.8% ซึ่งมีอัตราการเปิดรับทั้งหมดโดยเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 135,069 อัตรา
5 สายงานที่มีผู้สมัครมากที่สุด พบว่า งานธุรการ/จัดซื้อ มีการสมัครสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 13.22% อันดับสอง งานผลิต/ควบคุมคุณภาพ คิดเป็น 10.50% อันดับสาม งานขาย คิดเป็น 8.12% อันดับสี่ งานทรัพยากรบุคคล คิดเป็น 7.10% อันดับห้า งานวิศวกรรม คิดเป็น 6.48% ของผู้สมัครทั้งหมด
"ข้อมูลภาพรวมความต้องการของตลาดแรงงานและความต้องการขององค์กรตลอดจนพฤติกรรมการหางาน สมัครงาน แสดงให้เห็นถึงภาพการจ้างงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย และเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สำหรับองค์กรควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเรื่องบุคลากร ส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะความสามารถที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันคนทำงานควรพัฒนาศักยภาพให้มีประสิทธิภาพพร้อมในการทำงานอยู่เสมอเพื่อต่อยอดไปสู่การทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และสามารถตอบสนองตลาดแรงงานในอนาคตได้"น.ส.แสงเดือน กล่าว