นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน National Director Conference 2019 ว่า ในปัจจุบันโลกกำลังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ธุรกิจไทยไม่น้อยที่เริ่มขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ภาคการเงินนั้น ธปท.และสถาบันการเงินต่างๆ กำลังขับเคลื่อนแนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับธรรมาภิบาลองค์กร และธรรมาภิบาลในความหมายกว้าง สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง คำนึงถึงความเสี่ยงรอบด้าน ดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สนับสนุนการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือมีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ไม่ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนและสนับสนุนการปลูกฝังวินัยทางการเงิน การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
โดยที่ผ่านมา ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อหลายประเภท เพื่อลดผลข้างเคียงในระยะยาว ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เพื่อป้องกันการแข่งขันของสถาบันการเงินจนเกินพอดี ตลอดจนการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับบริการทางการเงินที่เป็นธรรม เป็นต้น
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน จะเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญสำหรับอนาคตของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการบริษัทที่ต้องมีบทบาทสำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางและนโยบายของบริษัท และกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองกว้าง มองไกล คำนึงถึงความเสี่ยงและผลกระทบรอบด้าน และสร้างแรงจูงใจในบริษัทให้เหมาะสม ไม่จ่ายผลตอบแทนโดยอิงผลกำไรระยะสั้นอย่างเดียว
"พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้ธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน มีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จในระยะยาว และอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความเปราะบางในรูปแบบต่างๆ เพิ่มขึ้น" นายวิรไทระบุ
ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวด้วยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมีการขยายตัวและแข่งขันกันสูงมาก จัดส่งเสริมการขายหลายรูปแบบ ลดแลกแจกแถม หลายโครงการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำจากการปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนโดยที่ไม่มีการอยู่อาศัยจริงก็เพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนคนที่ขอกู้เงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์หลายสัญญาในเวลาใกล้เคียงกัน
ธนาคารพาณิชย์ มีการแข่งขันเพื่อปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น โดยผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อจนเกินพอดี มูลค่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มี Loan to Value สูงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบพฤติกรรมการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในวงเงินที่สูงเกินกว่ามูลค่าที่ลูกค้าซื้อจริงมาก ทำให้ลูกค้าที่กู้เงินซื้ออสังหาฯ ได้เงินก้อนโตกลับไปใช้จ่าย หรือเรียกกันว่าสินเชื่อเงินทอน
"การทำแบบนี้ สนับสนุนให้เกิดการก่อหนี้ที่เกินความจำเป็น ซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยให้รุนแรงมากขึ้น และที่สำคัญส่งเสริมการเก็งกำไรโดยตั้งบนความเชื่อที่ผิดว่า บ้านมีแต่ราคาจะสูงขึ้น หรือจะปล่อยบ้านให้เช่าได้ในราคาดีตลอดไป ซึ่งมันไม่เป็นความจริง" นายวิรไทกล่าว
พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เกิดอุปสงค์เทียมเพื่อการเก็งกำไร และทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้เกิดการก่อสร้างใหม่ๆ เกินกว่าความต้องการที่แท้จริง การลดมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อจนเกินพอดี และการให้สินเชื่อเงินทอนจนเกิดภาวะที่อาจเป็นฟองสบู่กำลังก่อตัวขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ไม่มีทางจะยั่งยืน และในระยะยาวจะเกิดผลกระทบเชิงลบต่อเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์, สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ และลูกค้า
"ถ้าเราไม่ช่วยป้องกันดูแลแต่เนิ่นๆ เมื่อฟองสบู่เกิดแตก จะสร้างผลข้างเคียงมากกับทุกคน เพราะมูลค่าสินทรัพย์ของคนไทยจะลดลงมาก" นายวิรไทกล่าว
การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก มุ่งแสวงหากำไรที่เกินพอดี โดยไม่คำนึงถึงผลข้างเคียงที่จะมีต่อคนในชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม จะไม่ยั่งยืนในระยะยาว เหตุการณ์จะเกิดขึ้นยากถ้าผู้บริหารยึดมั่นในหลักการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยใส่ใจธรรมาภิบาลที่ดีภายในองค์กร และธรรมาภิบาลในความหมายกว้างที่คำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่ธุรกิจจะต้องมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะในที่สุดผลกระทบเหล่านั้นจะย้อนกลับมากระทบธุรกิจเอง ทั้งแง่ชื่อเสียง ผลประโยชน์ทางการเงิน หรือแม้แต่คดีความ ผลกระทบเหล่านี้อาจรุนแรงจนทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการได้
พร้อมเห็นว่า การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มองกว้างและมองไกล คำนึงถึงความเสี่ยงรอบด้านที่มองถึงหลักธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กร และธรรมาภิบาลในความหมายกว้างที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ในยุคที่ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้น รวมทั้งนักลงทุน ผู้บริโภค และคนในสังคมต่างให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น บริษัทที่เป็นผู้นำในการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนด้วยมาตรฐานที่สูง เท่าทันกับความรุนแรงของปัญหา จะได้เปรียบคู่แข่งมาก เพราะนอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจแล้ว ยังจะมีส่วนกำหนดทิศทางและมาตรฐานการทำธุรกิจใหม่ๆ ด้วย
ผู้ว่าฯ ธปท. ยังกล่าวถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในประเทศว่า คนไทยจำนวนมากยังติดกับดักหนี้ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบกับประเทศที่ระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน โดยประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนในระดับ 78.7% ของจีดีพี และยังไม่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากภาคธุรกิจกระตุ้นให้เกิดการซื้อของที่ฟุ่มเฟือย หรือก่อหนี้จนเกินความจำเป็น
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น นานขึ้น และมากขึ้น โดยคนไทยเริ่มเป็นหนี้ และเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุน้อย 30-35 ปี ยอดหนี้ต่อหัวเร่งตัวขึ้นตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงอายุ 44 ปี และทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนถึงใกล้เกษียณ โดยยอดหนี้ไม่ได้ลดลงเหมือนเช่นประเทศอื่น นอกจากนี้ คนไทยมีหนี้มูลค่าสูงขึ้น โดยค่ากลางในปี 2553 อยู่ทีระดับ 7 หมื่นบาทต่อคน และในปี 2560 เพิ่มเป็น 1.5 แสนบาทต่อคน ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบ หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ และหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ดังนั้นปัญหาหนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นปัญหาที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง