น.ส.ศุภรา เสกาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดอาหารว่างในจีนมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละปีผู้บริโภคชาวจีนได้ใช้จ่ายไปกับการซื้อขนมและอาหารทานเล่นต่างๆ รวมแล้วคิดเป็นมูลค่าราว 2 ล้านล้านหยวน และยิ่งการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์มีการขยายตัว ก็ยิ่งทำให้มีการซื้ออาหารว่างเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยมีสัดส่วนการจำหน่ายอาหารว่างทางออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 30 ของสัดส่วนการจำหน่ายอาหารทางออนไลน์ทั้งหมด
สำหรับอาหารว่างที่จำหน่ายในจีนที่ได้รับความนิยม มักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดูดี และเน้นภาพลักษณ์ของแบรนด์สินค้า และเป็นสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เน้นความเป็นธรรมชาติ ทำจากธัญพืช ไม่มีน้ำตาล โดยกลุ่มผู้บริโภคหลัก คือ คนวัยหนุ่มสาวที่อายุตั้งแต่ 20-30 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้หันมาใส่ใจด้านสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคเหล่านี้ คือ กระติกน้ำเก็บความร้อนที่นิยมใส่พืชสมุนไพรจีนโกจิเบอร์รี่ (เม็ดเก๋ากี้) ผสมเข้ากับน้ำดื่ม รวมถึงผักและผลไม้อบแห้ง ถั่วนัทต่างๆ ที่มียอดจำหน่ายสูงขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีสถิติที่ยืนยันว่าอุตสาหกรรมอาหารว่างในจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2549 มีมูลค่า 424,036 ล้านหยวน เพิ่มเป็น 2,215,640 ล้านหยวนในปี 2559 เพิ่มขึ้น 422.51% และคาดว่าในปี 2563 มูลค่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 ล้านล้านหยวน โดยสินค้าประเภทอาหารว่างที่มีมูลค่าการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผัก ผลไม้ และถั่วแปรรูป ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์พลอยได้จากเนื้อสัตว์ที่นำมาแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป คิดเป็นร้อยละ 26.5 , 21.22 และ 18.01 ตามลำดับ
"จากสถิติข้างต้น เห็นได้ชัดเจนว่าตลาดอาหารว่างในจีน เป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการนำสินค้าอาหารว่างที่มีศักยภาพของไทยมาบุกตลาดจีน แต่ในการผลิตจะต้องเน้นความมีเอกลักษณ์ เพื่อสุขภาพ และเน้นเจาะผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยหนุ่มสาว โดยสินค้าของไทยที่มีวางจำหน่ายในตลาดจีนแล้ว เช่น กล้วยอบกรอบ สาหร่ายหลากรส ปลาหมึกแผ่น เป็นต้น"น.ส.ศุภรากล่าว
ด้านนางสาวเกษสุรีย์ วิจารณกรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ในแต่ละภูมิภาคในจีนจะนิยมอาหารว่างแตกต่างกัน เช่น เขตปกครองตนเองมองโกเลีย เน้นอาหารว่างประเภทเนื้ออบแห้งและนมอัดเม็ด , ฝูเจี้ยนและกวางตุ้ง เน้นอาหารว่างประเภทขนมหวาน พายข้าวพอง และผลิตภัณฑ์ประมง , หูหนานและหูเป่ย เน้นอาหารว่างรสชาติเผ็ด และเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยกูร์ เน้นอาหารว่างประเภทผลไม้ เป็นต้น ซึ่งการวางแผนเจาะเข้าสู่ตลาดจีนแต่ละมณฑล ควรคำนึงถึงความต้องการและความนิยมบริโภค จะทำให้สินค้าไทยมีโอกาสเจาะตลาดได้มากขึ้น