นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในระหว่างการอภิปรายนโยบายรัฐบาล โดยชี้แจงถึงความจำเป็นในการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลว่า รัฐบาลพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนั้น และให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่าง ในปี 2557-2558 เศรษฐกิจไทยประสบภาวะชะลอตัว ดังนั้นรัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องตั้งงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นความจำเป็นเพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงจูงใจให้เอกชนมาลงทุนในประเทศมากขึ้น ช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้
ซึ่งจะเห็นว่าในปี 2557 เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวเพียง 1% ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.9% ในปี 2560 และประมาณ 4% ในปี 2561 โดยยืนยันว่าการใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณนั้น ยังอยู่ภายใต้วินัยการเงินการคลัง ซึ่งมี พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ กำกับดูแลอยู่
นอกจากนี้ หนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 42% ต่อจีดีพี ลดลงจากสิ้นปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 43% ต่อจีดีพี โดยยังอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังที่หนี้สาธารณะของประเทศจะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชน โดยเฉพาะกรณีการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ที่มีรายได้น้อยว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญโดยใช้กลไกจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพื่อการให้สินเชื่อแก่ประชาชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ในระบบปกติได้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนไปแล้ว 3.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41% ของสินเชื่อในระบบธนาคารทั้งหมดสำหรับภาคครัวเรือน
"รัฐบาลกำลังพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือกอื่นๆ ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น โดยสิ่งที่ได้พัฒนามาแล้วและจะพัฒนาต่อไป เช่น นาโนไฟแนนซ์ โดยส่งเสริมให้มีผู้ให้สินเชื่อรายใหม่ ที่เน้นการให้สินเชื่อแก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ และในเรื่องเทคโนโลยีนั้น เราใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อให้เข้าถึงผู้ที่มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการออมของภาคเอกชนผ่าน กอช. ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 3.9 แสนคนในปี 2558 เป็น 1.57 ล้านคนในปัจจุบัน" รมว.คลังกล่าว
ส่วนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนนั้น นายอุตตม กล่าวว่า ยอดหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นตามทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การสร้างหนี้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ซึ่งหนี้ครัวเรือนของไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการสร้างรายได้ หรืออสังหาริมทรัพย์ เช่น การซื้อบ้าน ตลอดจนสินเชื่อที่มีหลักประกันอื่นๆ
แต่ทั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย โดยกระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการก่อหนี้ครัวเรือน ตั้งแต่ระดับอาชีวะ และกลุ่มที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน โดยจะมีโครงการให้ความรู้ในเรื่องนี้ เพื่อต้องการให้ก่อหนี้อย่างเหมาะสม และเห็นว่าควรจะต้องมีหน่วยงานกลางในการดูแลช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนโดยใช้แนวทางในการช่วยปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้มีการดูแลหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร
รมว.คลัง ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับวินัยการเงินการคลังเป็นอย่างมาก จึงทำให้สถานะทางการการเงินการคลังของไทยได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ทั้งจากฟิทช์ เรตติ้ง และมูดี้ส์ ซึ่งสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือจากนักลงทุนต่อภาวะการเงินการคลังของไทยที่อยู่ในระดับน่าพอใจ
"อย่างไรก็ดี รัฐบาลจะไม่วางใจ ไม่นิ่งนอนใจ เราจะดูแลวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเข้มข้นเสมอ เพื่อให้เราสามารถร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชน ของประเทศที่จำเป็นต้องมีฐานะทางการเงิน การคลังที่เข้มแข็ง" นายอุตตมระบุ