ดอลล์แข็งเทียบยูโรที่ตลาดออสซี่เช้านี้ ขณะนลท.วิตกปัญหาสินเชื่อในยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Thursday February 14, 2008 09:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรที่ตลาดปริวรรตเงินตราออสเตรเลียเช้าวันนี้(14 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจในเขตประเทศทวีปยุโรป ขณะที่ยอดค้าปลีกสหรัฐที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์ก็ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนเงินดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 1.4571 ดอลลาร์ต่อยูโรเมื่อเทียบกับระดับ 1.4583 ดอลลาร์ต่อยูโรที่ตลาดนิวยอร์กคืนวานนี้ หลังจากที่รัฐบาลเยอรมนีเห็นพ้องที่จะอัดฉีดเงินก้อนโตให้กับธนาคารไอเคบี ดอยช์ อินดัสเทียลแบงค์ เอจี เพิ่มมากขึ้น ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันของยุโรปลงหลายแห่ง
ค่าเงินดอลลาร์ได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากยอดค้าปลีกของสหรัฐเมื่อเดือนที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับคาดการณ์ได้ช่วยคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค
สำหรับเงินปอนด์สเตอริงซื้อขายกันที่ 1.9628 ดอลลาร์ต่อปอนด์ เมื่อเทียบกับระดับ 1.9649 ดอลลาร์ต่อยูโรเมื่อคืนที่ผ่านมา ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 108.185 เยนต่อดอลลาร์ จากระดับ 108.19 เยนต่อดอลลาร์
จอห์น ไคเรียคูพูลอส นักวิเคราะห์จากเอ็นเอบี แคปิตอลกล่าวว่า "ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับวิกฤตสินเชื่อและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกทำให้นักลงทุนต้องการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและดอลลาร์ออสเตรเลียก็ยังคงมีแรงกดดันในด้านลบอยู่"
ทั้งนี้ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียที่มีผลตอบแทนสูงยังอ่อนค่าลงหนักสุดในช่วงวันที่ผ่านมาท่ามกลางกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารออสเตรเลียกำลังเผชิญปัญหาจากวิกฤตสินเชื่อ ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงก็เป็นปัจจัยที่ถ่วงค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียด้วยเช่นกัน
โดยเงินดอลลาร์ออสเตรเลียซื้อขายกันที่ 89.65 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย หลังจากร่วงลงแตะที่ 89.51 เซนต์สหรัฐต่อดอลลาร์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดอลลาร์ออสเตรเลียจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่นายจอห์นกล่าวว่า เขายังคงมีความวิตกกังวลเนื่องจากความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ช่วงขาลงนั้นยังคงมีอยู่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ