กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 30.70-31.00 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 30.95 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 915 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตรสุทธิ 8.5 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญ แม้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติตรึงดอกเบี้ยแต่ส่งสัญญาณว่าจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยและเข้าซื้อพันธบัตรในการประชุมเดือนกันยายน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) วันที่ 30-31 ก.ค. โดยคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ช่วง 2.00-2.25% ขณะที่การประเมินภาวะเศรษฐกิจและท่าทีต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่เหลือของปี จะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับตลาดการเงิน
ทั้งนี้ หากเฟดไม่ระบุชัดว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จะกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์ หนุนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากตลาดเกิดใหม่ นอกจากนี้ นักลงทุนจะติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายรายการ อาทิ ดัชนีภาคบริการและการจ้างงาน รวมถึงการเจรจาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่จากสหรัฐฯ และจีนในสัปดาห์นี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ค. ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปอาจขยับขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของภัยแล้ง อย่างไรก็ดี ยังมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมวันที่ 7 ส.ค. ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวย้ำว่าการตัดสินใจนโยบายการเงินของไทยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจในประเทศและข้อมูลที่ได้รับ
"เรามองว่า แรงกดดันจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก และธนาคารกลางในภูมิภาคอาจมีอยู่บ้าง แต่นโยบายการเงินของไทยยังเอื้อต่อการสนับสนุนการเติบโต นอกจากนี้ ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นว่านโยบายการคลัง น่าจะมีขีดความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่า"
ทางด้านมูดี้ส์ได้ปรับมุมมอง (Outlook) ความน่าเชื่อถือของไทยเป็น "เชิงบวก" จาก "มีเสถียรภาพ" และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.0-3.5% ในปี 2562-2563 ซึ่งเกาะกลุ่มไปกับประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือใกล้เคียงกัน