นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 6 มาตรการเร่งด่วน, 4 มาตรการระยะสั้น และ 3 มาตรการระยาว
สำหรับ 6 มาตรการเร่งด่วน ประกอบด้วย 1. การทำฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ 2. การบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงกลาโหม ในการออกสำรวจพื้นที่เพื่อกำหนดการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการบริหารจัดการน้ำ 3. ปรับแผนการระบายน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% 4. ปรับแผนการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลัก 5. วางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองอย่างบูรณาการ 6. การทำความเข้าใจสถานการณ์น้ำและแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนเพื่อประสานงานกับ ส.ส.ในพื้นที่ให้รับทราบ
ส่วน 4 มาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย 1. การให้งบกลางเพื่อก่อสร้างซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ 2. แผนการขุดเจาะบ่อบาดาลและซ่อมแซมบ่อบาดาลที่ชำรุด 3. วางแผนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 4. การบูรณาการ 4 กระทรวง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบโดยศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ
ขณะที่ 3 มาตรการระยะยาว ประกอบด้วย 1. จัดทำแผนน้ำระยะ 20 ปี 2. การลงทะเบียนแหล่งน้ำและลงทะเบียนผู้ใช้น้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนจัดสรรการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเป็นระบบ 3. ปรับปรุงแผนการเพาะปลูกล่วงหน้า เพื่อการจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบ
นางนฤมล กล่าวว่า วันนี้ในที่ประชุม ครม.ยังไม่ได้มีการระบุวงเงินงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยคาดว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบจะทยอยนำเสนอเข้ามาในภายหลัง
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้เปิดศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม เพื่อติดตาม เฝ้าระวัง วิเคราะห์สถานการณ์น้ำ และผลจากการประชุมคณะทำงานฯ ได้กำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำให้หน่วยงานดำเนินการ
นางนฤมล กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังได้มีการหารือพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะออกเป็นพ.ร.บ.ได้ในช่วงม.ค.63 โดยในระหว่างนี้สามารถใช้งบประมาณปี 2562 ไปก่อน