ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความตึงเครียดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีนที่รุนแรงขึ้น จนมีการใช้มาตรการตอบโต้ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างกว่ามาตรการภาษี รวมไปถึงการพลิกกลับของแนวโน้ม bond yield ของโลก
สำหรับอุตสาหกรรมที่แนะนำ คือ กลุ่มพาณิชย์ CPALL เพราะเชื่อว่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล และจากโอกาสที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างจังหวัด ด้านกลุ่มสินค้าเกษตร เลือก CPF เป็นหุ้นเด่น เพราะมีราคาเนื้อสุกรที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ หลังจากมีการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในเวียดนาม ขณะที่กลุ่มรับเหมาโยธา เลือก CK และ STEC โดยมีโอกาสปรับตัวสูงจากการประมูลโครงการภาครัฐภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
ขณะที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เลือก AMATA เพราะมีสถานะที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ ที่สูงขึ้นภายใต้รัฐบาลใหม่ และจากการย้ายฐานโรงงานจากจีน และสุดท้ายกลุ่ม ICT ชอบ DTAC และ TRUE เพราะคาดว่าตลาดจะมองบวกต่อทิศทางการเติบโตของรายได้ของอุตสาหกรรมมือถือมากขึ้น หลังจากมีการแข่งขันด้านราคาที่ผ่อนคลายลง ตลาดประเมินโอกาสการปรับลดของต้นทุนจากการยุติบริการ 2G ที่น้อยเกินไป
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เลือก KTB และ SCB เพราะคาดว่าอัตราค่าใช้จ่ายต่อรายได้ และค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ จะปรับตัวลดลง ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาสแรกที่ผ่านมา ขณะที่กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ชอบ TFFIF เพราะมีอายุกองทุนเหลือ 29 ปี กระแสรายได้ที่มั่นคง ความผันผวนต่ำ
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ยังคงประมาณการค่าเงินบาทที่ใกล้เคียง 31 บาท/ดอลลาร์ แม้ว่ามาตรการลดการเก็งกำไรค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งผลให้ตราสารหนี้ระยะสั้นที่ต่างชาติถือครองอยู่ 120,000 ล้านบาท ลดลงเหลือ 80,000 กว่าล้านบาท ซึ่งถือว่ามาตรการดังกล่าวได้ผลดี และเป็นการส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนที่เก็งกำไรค่าเงินบาทให้ระมัดระวังมากขึ้น จะส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าลง
แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นดอลลาร์ลดลง และทำให้นักลงทุนเลือกเข้าถือเงินบาท ซึ่งมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และแนวโน้มทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้นทำให้ค่าเงินบาทยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่มาก ซึ่งนักลงทุนระยะยาวที่ไม่ได้มองการเก็งกำไรค่าเงินอย่างเดียวนั้น เมื่อเทียบตลาดตราสารหนี้ประเทศอื่น ก็จะยังคงมองตราสารหนี้ไทยเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และหากดูอัตราผลตอบแทนการเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวของไทย ยังให้ผลตอบแทนสูงกว่า 1% เมื่อเทียบกับ 24 ประเทศที่มีเครดิต BBB ในระดับเดียวกัน
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3% ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เติบโต 3.1% โดยยังคงต้องรอผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศสหรัฐ รวมไปถึงภาพรวมการท่องเที่ยวที่ก่อนหน้านี้เป็นสิ่งที่ช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ อาจจะได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าด้วย
ส่วนนโยบายการเงินของประเทศไทยมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.75% ต่อปีในปีนี้ สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ นโยบายของรัฐบาลที่จะออกมาหลังจากนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)