นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงเรื่องของผลกระทบจากการขึ้นภาษีความหวานอาจทำให้ภาคเอกชนหลายรายเปลี่ยนสูตรการผลิตสินค้า โดยใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งในอนาคตจะทำให้ความต้องการอ้อยที่นำมาใช้ผลิตน้ำตาลลดลง หวั่นส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า การขึ้นภาษีดังกล่าวเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาจากปริมาณการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งมีปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 2.6 ล้านตัน ปี 61 มีปริมาณการบริโภคอยู่ที่ 2.5 ล้านตัน และในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการบริโภคน้ำตาลทรายไปแล้ว (ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกรกฎาคม) จำนวน 1.46 ล้านตัน และไทยคาดว่าจะมีปริมาณการบริโภคในปีนี้ประมาณ 2.6 ล้านตัน
นางวรวรรณ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าจากการการบริโภคน้ำตาลทราย 3 ปีที่ผ่านมามีปริมาณใกล้เคียงกัน ซึ่งการบริโภคน้ำตาลทรายภายในประเทศจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือผู้บริโภคโดยตรงและผู้บริโภคโดยอ้อม โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลให้กับผู้บริโภคโดยอ้อมเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 มีปริมาณการจำหน่ายอยู่ที่ 5.8 แสนตัน และปริมาณการจำหน่ายในปี 62 อยู่ที่ 5.7 แสนตัน จะเห็นได้ว่ามีปริมาณใกล้เคียงกันโดยลดลงราว 10,000 ตัน
และจากสถานการณ์อ้อยและน้ำตาลของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า มีการขยายตัวของพื้นที่ปลูกอ้อยซึ่งมีปริมาณอ้อยเข้าหีบและผลผลิตน้ำตาลสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉลี่ย 12-14 % ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศและการส่งออกน้ำตาลมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ ประมาณ 5-6% ต่อปี ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำตาลของไทยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาวะราคาอ้อยและราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยิ่งเป็นแรงกดดันต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของราคาอ้อยที่ตกต่ำ ซึ่งการขึ้นภาษีความหวานอาจเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งเท่านั้น