นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แถลงผลการดำเนินงานในวาระครบรอบ 61 ปี พร้อมก้าว สู่ปีที่ 62 ว่า ในปีนี้ กฟน. ยังคงเดินหน้าโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจตามแผนงาน พร้อมเป็นผู้นำประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบสายสื่อสาร และขับเคลื่อนการเป็น "มหานครอัจฉริยะ Smart Metro Grid" โดยปัจจุบัน กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินแล้วเสร็จ รวมทั้งสิ้น 46.6 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการ 169 กิโลเมตร ซึ่งโครงการที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2562 ได้แก่ โครงการถนนพิษณุโลก ถนนนครสวรรค์ (แยกนางเลิ้ง ถึง แยกเทวกรรม) และถนนเพชรบุรี (แยกยมราช ถึง แยกอุรุพงษ์) รวมระยะทาง 0.3 กิโลเมตร และโครงการถนนนานา (ช่วงถนนสุขุมวิท ถึง คลองแสนแสบ) รวมระยะทาง 0.75 กิโลเมตร โดยรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ ภายในเดือนนี้ ส่วนโครงการถนนสาธุประดิษฐ์ และถนนสว่างอารมณ์ รวมระยะทาง 2 กิโลเมตร และโครงการถนนวิทยุ รวมระยะทาง 2.1 กิโลเมตร กำหนดรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จ ในเดือนธันวาคมนี้
สำหรับในช่วงครึ่งหลังปีนี้ กฟน. อยู่ระหว่างการเปิดประกวดราคา หาผู้รับเหมา เพื่อดำเนินโครงการสายส่งไฟฟ้าใต้ดินอีก 114.9 กิโลเมตร มูลค่าลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามแผนจะสามารถลงนามสัญญาได้ครบภายในสิ้นปีนี้ และดำเนินโครงการแล้วเสร็จภายในปี 2564
"โครงการสายส่งไฟฟ้าใต้ดินที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง อาทิ โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก-พระราม 9 โครงการรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โครงการตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และโครงการถนนวิทยุ ซึ่งยังเป็นไปตามแผน"
นอกจากนี้ กฟน. ยังมีการขยายการก่อสร้างอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าใจกลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ ถนนชิดลม ถึง ถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลม ถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยมีลักษณะเป็นอุโมงค์ยักษ์ขนาดใหญ่เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร อยู่ลึกประมาณ 40 เมตร มีความยาวของอุโมงค์โดยประมาณ 1,800 เมตร ซึ่งจะถือเป็นอุโมงค์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง และช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้สวยงาม มีความปลอดภัย
ในด้านการพัฒนาคุณภาพงานบริการ กฟน. มุ่งมั่นพัฒนาระบบการให้บริการและยกระดับคุณภาพงานบริการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นหน่วยงานให้บริการด้านระบบไฟฟ้าตัวแทนประเทศไทย ในการพิจารณาการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย (Doing Business) ของธนาคารโลก (World Bank) โดย กฟน. ได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก ในด้านการขอใช้ไฟฟ้าประจำปี 2562 อยู่ในอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจาก ประเทศมาเลเซีย และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก จาก 190 ประเทศทั่วโลก โดยขยับอันดับขึ้นถึง 7 อันดับ จากอันดับที่ 13 เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
ปัจจุบัน มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้า 3,863,621 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2562) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.75% สำหรับค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสะสมปี 2562 เท่ากับ 53,197 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 3.02%
นอกจากนี้ กฟน. ได้จัดทำ MEA EV Application ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการตรวจสอบสถานีอัดประจุไฟฟ้า การจองหัวชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น โดย กฟน. พร้อมเดินหน้าเป็นผู้นำในการควบคุมจัดการระบบให้บริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมล้าสมัยวิจัยพัฒนา เพื่อใช้กำกับดูแลและกำหนดหลักเกณฑ์ใน การเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในการสนับสนุนภาคธุรกิจ และส่งเสริมให้เกิดการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ โดย กฟน. มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกิจการ ตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบัน กฟน. มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ารวม 12 สถานี และขยายเพิ่มเติมเป็น 21 สถานีภายในปี 2562 ทั่วเขตจำหน่ายของกฟน. ล่าสุด พร้อมให้บริการออกแบบและติดตั้งเครื่องชาร์จไฟยานยนต์ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยของลูกค้าโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง กฟน. ยังคงสนับสนุนกับทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในประเทศ เช่น บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น Nissan MG รวมทั้งกระทรวงพลังงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของ กฟน. ในการเดินหน้าสู่ธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ รวมทั้งสิน 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579
นายกีพัฒน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนหรือ TOD (Transit Oriented District) เพื่อเป็นสมาร์ทซีตี้ ในสถานีกลางบางซื่อ เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต) และรถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ โดยขณะนี้ กฟน.ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าต้นทางบางซื่อเพื่อรองรับระบบจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,275.75 ล้านบาท โดยสถานีไฟฟ้าบางซื่อมีศักยภาพในการรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้สูงสุด 1,200 เอ็มวีเอ เทียบเท่าประมาณ 5 เท่าของศักยภาพระบบจ่ายไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรมบางปู
สำหรับการคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดแบ่งออกเป็น ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง รถไฟฟ้าความเร็วสูงทุกสายที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อ เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแบบไร้รอยต่อ (สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และสถานีกลางบางซื่อ 300 เอ็มวีเอ และพื้นที่พัฒนาฯ อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ Smart city อีก 300 เอ็มวีเอ นอกจากนี้ยังสามารถจ่ายไฟให้แก่พื้นที่โดยรอบที่อยู่ภายนอกโครงการได้อีก 600 เอ็มวีเอ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,200 เอ็มวีเอ ซึ่งมั่นคง เพียงพอ และมีกำลังไฟฟ้าสำรองที่พร้อมอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ กฟน.เตรียมส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาสมัครร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนปี 62 ได้มากขึ้น หลังพบว่ามียอดผู้สมัครเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2562 เพียง 3 เมกะวัตต์ จากโควต้าที่ กฟน.เปิดรับ 30 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างหารือเพื่อปรับเกณฑ์ข้อจำกัดด้านหม้อแปลงไฟฟ้าใหม่ จากปัจจุบันกำหนดให้หม้อแปลงไฟฟ้า 1 ลูก จะสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ไม่เกิน 15% ของกำลังหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาขยายเกณฑ์ 15% ให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากยอดการสมัครโซลาร์ภาคประชาชนในส่วนของ กฟน.ไม่ถึง 30 เมกะวัตต์ คาดว่าทางกระทรวงพลังงานอาจต้องกำหนดกรอบกติกาใหม่