ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 30.86/87 มองแนวโน้มยังอ่อนค่า หลังผิดหวังถ้อยแถลงเฟด คาดกรอบพรุ่งนี้ 30.75-30.95

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2019 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 30.86/87 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ เปิดตลาดที่ระดับ 30.90 บาท/ดอลลาร์

วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.79-30.89 บาท/ดอลลาร์ โดยตลาดค่อนข้างผิดหวังกับถ้อยแถลงของประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังไม่มี ผลกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก ส่วนคืนนี้ ตลาดรอดูตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ

"ตลาดผิดหวังกับ comment ของประธานเฟด ที่ค่อนข้างจะกำกวมว่าจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งหรือไม่ในการประชุมเดือน ก. ย." นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน มองเงินบาทพรุ่งนี้ยังมีแนวโน้มอ่อนค่า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 30.75 - 30.95 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 109.07/10 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 109.19 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1038/1042 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.1047 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,699.75 จุด ลดลง 12.22 จุด (-0.71%) มูลค่าการซื้อขาย 54,655 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 1,716.18 ลบ.(SET+MAI)
  • สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรือ
อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค. อยู่ที่ 103.00 ขยายตัว 0.98% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตลาดคาดราว 1%) และขยายตัว 0.06% จาก
เดือนมิ.ย.62 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 0.92%
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกใน
รอบกว่า 10 ปีตามที่ตลาดคาด ไปที่กรอบ 2.00-2.25% ในการประชุมเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. 2562 ต่อไทยว่า แม้การปรับลดดอกเบี้ย
ของเฟดในการประชุมรอบนี้ ยังไม่น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะ
ใกล้ๆ นี้ เนื่องจากโจทย์เฉพาะของไทยที่ธปท. จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นเรื่องการลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพของระบบการ
เงิน ควบคู่ไปกับการติดตามภาวะการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท. น่าที่จะให้น้ำหนัก
กับปัจจัยในประเทศในการตัดสินใจเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย มากกว่าทิศทาง/แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ใน
ช่วงข้างหน้า
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ค.62 อยู่ที่ระดับ 49.1 ทรงตัวใกล้เคียง
กับเดือนมิ.ย. โดยความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในภาคการผลิตลดลงในด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และการจ้างงานเป็นสำคัญ นำโดยกลุ่ม
ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงกลุ่มผลิตปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยางและพลาสติกที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและปริมาณการ
ผลิตลดลงมากตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความไม่แน่นอนของภาวะสงครามการค้า
  • รัฐบาลยังคงกรอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2563 ที่ 3.2 ล้านล้านบาท แต่ได้ปรับประมาณการรายได้สุทธิ
เหลือ 2.731 ล้านล้านบาท จากเดิมที่ 2.75 ล้านล้านบาท ขณะที่งบประมาณขาดดุลเพิ่มเป็น 4.69 แสนล้านบาท จากเดิมที่กำหนดขาดดุล
ไว้ 4.5 แสนล้านบาท เพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ 2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดย
คาดว่าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในราวเดือน ม.ค.63
  • สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกในไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ระดับ 1,123 ตัน เพิ่มขึ้น
8% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับ 1,038.8 ตันในไตรมาส 2/2561 โดยได้ปัจจัยหนุนส่วนใหญ่จากการที่ธนาคารกลางต่าง ๆ เข้าซื้อ
และจากการที่กองทุน EFT ได้เข้าลงทุนในทองคำเพิ่มขึ้น
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตรียมพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการทางการเงินเพิ่มเติม เพื่อเตรียมการณ์ไว้ ภายหลัง
จากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง พร้อมเห็นว่าการลดดอกเบี้ยของเฟดนั้น มีเป้าหมายที่จะป้องกันการ
ชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า การเจรจาในหัวข้อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ
รอบล่าสุด ซึ่งเป็นรอบที่ 12 นั้น ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่จะนำไปสู่การดำเนินการในวันข้างหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ