รมว.ดีอี หนุน CAT ปรับตัวแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ ใช้โครงข่ายที่มีอยู่ - BIG DATA ให้เกิดประโยชน์ เร่งผลักดันคลาวด์ภาครัฐ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2019 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เปิดเผยในโอกาสตรวจเยี่ยมบมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) ว่า วันนี้กระทรวงดีอีได้เข้ามารับฟังการเตรียมความพร้อมขององค์กรในการสร้างการเติบโต และได้มีการชี้แนะแก่องค์กรถึงภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน อาจส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัทฯ เนื่องด้วยการดำเนินงานในอดีต ได้มุ่งเน้นไปในทางการให้บริการและดูแลประชาชนเป็นหลัก โดยไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรมากนัก จึงมีการแนะให้บริษัทฯ มองการแตกไลน์ธุรกิจ ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ และต้องดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะสามารถประคับประคองธุรกิจในสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นได้

"CAT ถือว่ามีต้นทุนที่ดี จากการมีโครงข่ายที่กระจายไปทั่วประเทศ รวมถึงจุดให้บริการ ซึ่ง CAT น่าจะได้ประโยชน์จากการเข้าไปแข่งขันในธุรกิจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้าน ซิเคียวริตี้, คลาวด์ โดยที่ผ่านมา CAT มีการให้บริการกับหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก การออกไปแข่งขันหรือให้บริการกับภาคประชาชน เอกชน ยังทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการจะทำให้ธุรกิจมีการเติบโต CAT ต้องมีการปรับตัว และเชื่อว่า CAT ก็น่าจะมีแผนงานในการขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ แล้ว"

ทั้งนี้ยังแนะให้ CAT ช่วยเป็นพี่เลี้ยง หรือสนับสนุน ช่วยดูแลหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการนำเอาข้อมูลจาก BIG DATA มาใช้ประโยชน์ เช่น หน่วยงานการท่องเที่ยว ประกอบไปด้วย บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT), บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บมจ.การบินไทย (THAI) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น หากนำเอาข้อมูลมารวมกันก็จะเป็นประโยชน์ ที่อาจนำไปสู่การวางงบประมาณในปีหน้า จุดท่องเที่ยวใหม่ๆ ส่วนภาคประชาชนก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในเรื่องของการวางแผนท่องเที่ยว รวมถึงกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูล เพื่อใช้ในการวางแผนธุรกิจของตนเองได้

นอกจากนี้ก็แนะให้บริษัทฯ ศึกษารายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีอยู่หลายข้อที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มองว่าน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับ กสท โทรคมนาคม

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำหรับภารกิจแรกที่จะเร่งทำ คือเรื่องการทำคลาวด์ภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานราชการมาใช้ ซึ่งทาง CAT ได้ศึกษารายละเอียดเบื้องต้นแล้ว สามารถรองรับการใช้งานของหน่วยงานได้ไม่เกิน 40 หน่วยงาน คาดว่าจะมีงบประมาณอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรองบประมาณจากกองทุนคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งจะมีการนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมการชุดใหญ่ และเมื่อได้รับงานมาหลังจากนั้น 2 เดือน จะสามารถเริ่มให้บริการได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ