นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตไม่ถึง 3% ซึ่งการใช้นโยบายการคลังเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ แต่ต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยเสริม โดยความเสี่ยงเกิดจาก 1.ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน และยังไม่มีสัญญาณจะฟื้นตัว 2.ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทั่วประเทศ ลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนเช่นกัน 3.ปัญหาภัยแล้งที่บั่นทอนเศรษฐกิจ การลงทุน และการบริโภคในประเทศ และ 4.เหตุระเบิดป่วนเมืองล่าสุดวันนี้ ทำให้คนตีความเชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง และมองว่าหลังจากนี้การเมืองอาจจะไม่มีเสถียรภาพ เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะยิ่งทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้จ่ายไม่กล้าลงทุน รวมถึงกังวลถึงเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นการเมืองนอกสภา
"ทิศทางต่างๆ เหล่านี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีอย่างเร่งด่วน ทั้งการประกันรายได้เกษตรกร การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การใช้นโยบายการคลังอย่างเต็มที่เป็นสิ่งจำเป็น ขณะเดียวกันที่สหรัฐลดดอกเบี้ย และหลายประเทศใช้มาตรการ QE เพิ่มเติมปริมาณเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่ไทยต้องทำคือดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมากกว่าคู่แข่ง และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง นอกจากนี้ดอกเบี้ยของไทยเข้าเกณฑ์ที่จะลดลงได้ตามหลักทฤษฎี เพราะเงินเฟ้อหลุดกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1-4% แล้ว" นายธนวรรธน์กล่าว
นอกจากนี้ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการ LTV ที่เข้มข้น พร้อมส่งสัญญาณไปยังธนาคารพาณิชย์ในการใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อให้เข้มงวดขึ้น จึงเหมือนเป็นการทำให้นโยบายการคลังทำงานเพียงลำพัง และถูกฉุดดึงด้วยนโยบายการเงิน การจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เกินกว่า 3% ในปีนี้ รวมทั้งลดความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น ม.หอการค้าไทย ขอสนับสนุนให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ยลง และดูแลค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลงอยู่ในระดับ 32 บาท/ดอลลาร์ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงซึมตัว
"เฟดลดไปแล้ว 0.25% ดังนั้นการลดลง 0.25% เป็นสิ่งที่ไทยควรจะทำตาม trend ดอกเบี้ยโลก แต่แน่นอนว่าการลดดอกเบี้ยเป็นการกระตุกเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถใช้ดูแลค่าเงิน เพราะลดแล้วยังเท่าสหรัฐ ดังนั้นถ้าต้องการใช้ดอกเบี้ยดูแลค่าเงิน ก็น่าจะลดลง 0.50% เป็นอย่างน้อย" นายธนวรรธน์ ระบุ