นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยยังสามารถขยายตัวได้ท่ามกลางข้อวิตกกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการค้าโลก โดยในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม – มิถุนายน) ของปี 2562 ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มสู่ตลาดโลกมูลค่า 1,241.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ถุงเท้าและถุงน่อง และถุงมือผ้า ขยายตัว 3.12%, 6.58% และ 2.44% ตามลำดับ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน
ปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยเติบโตแม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนมีหลายสาเหตุด้วยกัน นอกจากจุดแข็งของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยที่มีระบบการผลิตที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลกแล้ว ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ทั้งหมด 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ที่ส่งผลให้มีประเทศคู่เอฟทีเอ 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลีและฮ่องกง ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มทุกรายการของไทยแล้ว ส่วนอีก 2 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ เกาหลีใต้ และอินเดีย ได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มส่วนใหญ่ให้ไทย แต่คงการเก็บภาษีนำเข้าในบางรายการสินค้า ขณะที่เปรูเป็นประเทศเดียวที่ขอสงวนยังไม่เปิดตลาดสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ยกเว้นสินค้าถุงมือที่ใช้งานเพื่อการป้องกันที่เปิดตลาดลดภาษีเป็นศูนย์ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยจากปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะจีนที่เติบโตถึง 1,800% รองลงมาคือ เกาหลีใต้ เติบโต 109% ออสเตรเลีย เติบโต 104% นิวซีแลนด์ เติบโต 97% ญี่ปุ่น เติบโต 77% อาเซียน เติบโต 51% และ อินเดียเติบโต 21% เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า จะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องนุ่งห่มเพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา รวมถึงการเจรจาเอฟทีเอกับคู่ค้าอื่นๆ ในอนาคต โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มจะกลับมารื้อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกันอีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถลดมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ทั้งภาษีนำเข้า และมาตรการที่มิใช่ภาษี รวมทั้งผลักดันหลักเกณฑ์การสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าในอาเซียนเพื่อขยายตลาดและสร้างโอกาสในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปตลาดได้เพิ่มขึ้นนั้น คาดว่าเป็นผลพวงจากการที่สหรัฐอเมริกากับจีนต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอระหว่างกัน เห็นได้จากสถิติการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่ไทยส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปสหรัฐมีมูลค่าถึง 453 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.52% ส่วนการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปจีนมีมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 40.62%
"นอกจากข้อได้เปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเอฟทีเอแล้ว ผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเรื่องระเบียบมาตรฐานสินค้าของแต่ละประเทศ รวมทั้งรักษาคุณภาพฝีมือและการตัดเย็บ ตลอดจนเสริมสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า อาทิ การพัฒนาเทคนิคและดีไชน์ของสินค้าให้มีความทันสมัยตรงตามความต้องการของตลาด การสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าของสินค้าด้วยนวัตกรรม เช่น ผลิตเครื่องนุ่งห่มจากเส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษป้องกันรังสี UV เพิ่มความชุ่มชื้นให้ร่างกาย เป็นต้น เพื่อให้สินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนในตลาดโลก" นางอรมน กล่าว