นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ผู้แทนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) บมจ. การบินไทย (THAI)เข้าร่วม
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จากการสอบถามพบข้อห่วงใย 3 เรื่อง ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ของ กทท. ซึ่งการประมูลยังมีปัญหาร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาฯได้พิจารณาไม่รับอุทธรณ์ โดยจะเสนอในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 8/2562 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ซึ่งหากกพอ. ยืนตามไม่รับอุทธรณ์ จะเข้าสู่กระบวนการผู้ร้องไปใช้สิทธิ์ที่ศาลต่อไป ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกเล็กน้อย แต่ไม่น่ามีปัญหาใดๆ
ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีประเด็นเรื่องการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่ง นายวรวุฒิ ชี้แจงว่า ได้วางแผนไว้แล้ว ขณะที่ คณะกรรมการ EEC รับที่ดูแลในเรื่องงบประมาณการเวนคืนต่างๆ โดย รฟท.ยืนยันว่าจะสามารถลงนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ได้ภายในเดือนส.ค. นี้
สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO) ของการบินไทยนั้น อยู่ระหว่างการจัดทำ Market Sounding กับบริษัท แอร์บัส เอส. เอ. เอส. เพื่อแก้ไขประเด็นที่ยังติดขัด ทำให้ไม่สามารถยื่นข้อเสนอประมูลโครงการดังกล่าวได้
ด้านนายคณิศ กล่าวว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการบริหารระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะบูรณาการระบบการทั้งประเทศ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ ซึ่งเบื้องต้นให้ กระทรวงคมนาคม โดยนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นแกนในการทำงานร่วมกับ ทางอีอีซี ให้เร่งประชุมภายในเดือนนี้ เพื่อบูรณาแผนการพัฒนาโลจิสติกส์ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อมูลที่ศึกษาไว้แล้ว จะมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ให้ประชาชนได้รับความสะดวก ประหยัด และปลอดภัย
"ตามยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี ซึ่งจะเสร็จในปี 2578 จะมีการดำเนินงานและโครงการอีกมาก ตอนนี้ ยังไม่มีแผนงานบูรณาการ ให้ใช้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางราง เป็น 30% ภายใน 3 ปี จะทำอย่างไร ต้องบูรณาการกับระบบอื่นอย่างไร" เลขาฯอีอีซี กล่าว