นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในงาน Bangkok Post Forum 2019 ในหัวข้อ "ทิศทางประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่" ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว, พฤติกรรมผู้บริโภค, โครงสร้างประชากร รวมถึงการมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นที่รวมของพรรคร่วมถึง 19 พรรค มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในการบริหารประเทศร่วมกัน โดยเชื่อว่าทุกพรรคจะสามารถหล่อหลอมนโยบายเพื่อเดินหน้าในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ ตอบสนองต่อความหวังของประชาชน ภาคธุรกิจ และนักลงทุน รวมถึงต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา, จีน, ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังจับตามองประเทศไทยว่าจะขับเคลื่อนไปในอนาคตอย่างไร
นายอุตตม กล่าวว่า สิ่งสำคัญในระยะ 3 เดือนนับจากนี้ ที่กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการ ประกอบด้วย เรื่องที่ 1.การขับเคลื่อนการลงทุนและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีความต้องการการลงทุนเพื่ออนาคตเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงการคลังจะเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยส่งเสริมการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนคิดค้นแนวทางการลงทุนใหม่ๆ โดยให้เอกชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาร่วมลงทุนกับรัฐบาล ซึ่งเตรียมจะขยายโครงการไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์(TFFIF) เพื่อเป็นช่องทางให้เกิดการลงทุนในประเทศโดยคนไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าจะมีโครงการลงทุนใดบ้างที่ต้องการให้ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์เข้าไปช่วยสนับสนุนในการระดมทุน
"เรื่องกองทุน TFFIF กำลังเตรียมว่าจะขยายได้อย่างไรบ้างในรอบ 2 ต้องดูว่ามีโครงการใดที่มีความพร้อม เหมาะสมที่จะใช้ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์สนับสนุนในการลงทุนสำหรับโครงการเหล่านั้นบ้าง ต้องประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น คมนาคม ว่ามีโครงการไหนที่ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะไปช่วยสนับสนุนได้ เราต้องมีเป้าก่อน พอมีเป้าชัดเจนแล้วก็สามารถจะบอกได้ว่าไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์จะเปิดระดมทุนรอบต่อไป" รมว.คลังกล่าว
ส่วนจะมีเป้าหมายเริ่มระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อใดนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ โดยขอหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องก่อนว่าโครงการนั้นๆ จะมีแผนการดำเนินการอย่างไร มีความก้าวหน้าอย่างไร เพื่อให้เมื่อเวลาระดมทุนแล้วจะได้มีแผนงานที่ชัดเจนให้แก่ผู้ลงทุน และสร้างความจูงใจแก่นักลงทุนด้วย
รมว.คลัง ยังกล่าวถึงแผนงานเร่งด่วนของกระทรวงการคลังเรื่องที่ 2. คือการต่อยอดระบบการเงินแบบดิจิทัล ในเรื่องของ e-Payment โดยต้องการให้ระบบดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงลงไปสู่ประชาชนในฐานราก ภาคเกษตรกรรม รวมถึง SME เกษตรให้ได้รับประโยชน์จากโครงสร้างการเงินระบบดิจิทัลด้วย ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่แท้จริง เรื่องที่ 3. การดูแลสวัสดิการของประชาชน ซึ่งกระทรวงการคลังถือว่าเป็นงานที่สำคัญ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณให้เกิดความเหมาะสม ในขณะที่จะต้องสามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ทุกกลุ่มด้วย
นายอุตตม ยังกล่าวด้วยว่า การเพิ่มประสิทธิภาพหรือปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ของประเทศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการในระยะเร่งด่วน ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดหารายได้เพื่อนำมาใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ ซึ่งในประเด็นนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัดของกระทรวงการคลัง คือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมสรรพากร, กรมศุลกากร และกรมสรรพาสามิต ไปร่วมกันศึกษาแนวทางการปรับปรุงและยกระดับระบบการจัดเก็บภาษี เพื่อให้ส่วนหนึ่งสามารถนำมาช่วยดูแลด้านการลงทุนของประเทศ ในขณะที่จะต้องรักษาวินัยการเงินการคลังควบคู่กันไปด้วย
"แนวทางที่ให้ไปคือ เราจะดูว่าการจัดเก็บนั้นต้องสร้างความเท่าเทียมตามความเหมาะสมสำหรับภาคประชาชน, ผู้ประกอบการ นักลงทุน เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และเป็นภาระน้อยลงแก่ผู้จ่ายภาษี รวมทั้งการขยายฐานการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ๆ เนื่องจากปัจจุบันมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องดูแลให้เป็นระบบภาษีที่เป็นธรรม ส่งเสริมประเทศในการลงทุน และสร้างนวัตกรรมใหม่ และสร้างฐานภาษี ขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อให้มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ" นายอุตตมกล่าว
พร้อมระบุว่า การขยายฐานการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพิ่มเติมนั้น อาจจะเป็นภาษีด้านพลังงาน ซึ่งต้องมีการหารือกันในโอกาสต่อไปกับรัฐมนตรีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้จะต้องทำให้เกิดความสมดุลและสร้างความเป็นธรรมสำหรับผู้เสียภาษีด้วย
"รอดูให้รอบคอบก่อน จะไม่ดูประเภทใดประเภทหนึ่ง จะดูองค์รวมว่าเราจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างภาษี จะทำด้านไหนบ้าง...เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เรากำลังศึกษา ได้มอบหมายหน่วยงานของกระทรวงการคลังไปแล้ว เรายังไม่ได้พูดว่าจะปรับในแนวไหน กี่เปอร์เซนต์ ต้องดูให้รอบคอบ ความเป็นไปได้ที่จะลด มี แต่ขอเวลาศึกษาให้รอบคอบ ผมสั่งให้ศึกษาเลย เป็นงานที่ต้องทำภายในสามเดือนแรก ส่วนเรื่อง VAT ตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมเรื่องเข้าครม. ต้องหารือกับรัฐบาลก่อน" รมว.คลังระบุ